โดย อาจารย์พิชัย บุณยะกาญจน
ประวัติความเป็นมา
ในอดีตก่อนปี พ.ศ. 2500 การศึกษาในระดับอุดมศึกษายังอยู่ในวงจำกัดและไม่แพร่หลายไปทั่วประเทศดังเช่นปัจจุบัน ขณะนั้นประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยเพียง 5 แห่งได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งหมดอยู่ในกรุงเทพมหานคร แต่ละมหาวิทยาลัยเปิดสอนในสาขาวิชาที่จำกัดและมีจุดมุ่งหมายหลักเป็นการเฉพาะไม่เป็นสากลดังเช่นมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา และฝรั่งเศส ดังเช่นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดสอนทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์เป็นหลัก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เน้นการเรียนการสอนเกี่ยวกับเกษตรศาสตร์สมชื่อ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ให้ความสำคัญทางด้านแพทย์ศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์เป็นการเฉพาะ ส่วนมหาวิทยาลัยศิลปากรมุ่งเน้นการศึกษาทางด้านศิลปะในแขนงต่างๆเป็นหลัก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยเดียวในขณะนั้นที่เปิดสอนในสาขาวิชาหลากหลายและสากล เช่นวิศวกรรมศาสตร์ รัฐศาสตร์ แพทยศาสตร์ อักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นอาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแรกของเมืองไทย ถือกำเนิดมาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แต่มาสำเร็จเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบรูณ์เมื่อปี พ.ศ. 2456 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 ทรงขึ้นครองราชย์และสืบทอดพระราชปณิธานในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยจนสำเร็จ จากการค้นคว้าประวัติที่เกี่ยวข้องได้ทราบว่าตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2481 เป็นต้นมา มีการจัดตั้งโรงเรียนเตรียมจุฬาฯขึ้น ณ ที่ซึ่งเคยเป็นโรงเรียนมัธยมหอวัง หรือโรงเรียนเตรียมอุดมในปัจจุบัน เพื่อเตรียมตัวนักเรียนซึ่งจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ในสมัยนั้น ด้วยการสอบคัดเลือก) เข้าเรียนเตรียมในแต่ละสาขาเช่น เตรียมวิศวฯ เตรียมรัฐศาสตร์ เตรียมแพทย์ฯ เตรียมอักษรฯ และเตรียมวิทย์ฯ เพื่อเข้าเรียนต่อและเป็นนิสิตของจุฬาฯต่อไป(โดยไม่ต้องมีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง เหมือนสมัยนี้) ระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนเตรียมจุฬาฯถูกยกเลิกภายหลังปี พ.ศ. 2490 เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2488 และนโยบายการศึกษาเปลี่ยนไป และมีจำนวนนักศึกษาที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษา ที่ต้องการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
ประเทศไทยในยุคพัฒนา
ภายหลังปี พ.ศ. 2500 มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในรัฐบาลที่บริหารประเทศจากจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ผู้นำพรรคเสรีมนังคศิลา โดยการเลือกตั้งมาเป็นรัฐบาลทหารภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น
นโยบายหลักและสำคัญของรัฐบาลได้แก่ การพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยะประเทศในทุกๆด้าน นับตั้งแต่การศึกษา การสาธารณสุข การคมนาคม การเกษตร การอุตสาหกรรม การพานิชย์ฯ เป็นต้น ในการนี้รัฐบาลได้เรียนเชิญผู้มีความรู้ ความสามารถด้านต่างๆของประเทศ และเป็นที่รู้จักและยอมรับของต่างประเทศโดยทั่วไปเข้าร่วมเป็นทีมงานด้วย เริ่มด้วยการทำแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 1 (มีอายุ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 เป็นต้นไป) เพื่อเป็นแนวทางและกรอบของการพัฒนาประเทศตามที่ต้องการ (และต่อมาด้วยแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 2,3,4,5,...เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน) โดยมีสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(ในอดีตมีชื่อเรียกว่า สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ ที่เป็นชื่อเรียกขานของชาวบ้าน)
ผลงานบางส่วนที่เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมในทศวรรษแรก ( ปี พ.ศ. 2501 ถึง พ.ศ. 2510) ได้แก่
- การสร้างเขื่อนเอนกประสงค์ขนาดใหญ่ 2 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพล (เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2502) กั้นแม่น้ำปิงที่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก และเขื่อนสิริกิติ์ (เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2508) กั้นแม่น้ำน่านที่อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์
- การก่อสร้างถนนสายมิตรภาพ (ด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา) เชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานคร สระบุรี และนครราชสีมา ซึ่งเป็นถนนที่มีมาตรฐานระดับสากล และใช้เป็นมาตรฐานในการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายหลักๆในระยะเวลาต่อมา
- การขยายโอกาสทางการศึกษาด้านอุดมศึกษาออกไปสู่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย ด้วยการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้เป็นจุดเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2507 โดยมีรายละเอียดคือ
- การก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มช ” ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์กลางฯของ 17 จังหวัดในภาคเหนือ
- การก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มอ ” ที่จังหวัดสงขลา เพื่อเป็นศูนย์กลางฯของ 14 จังหวัดในภาคใต้ และ
- การก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มข ” ที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นศูนย์กลางฯของ 19 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
กำเนิดของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เมื่อรัฐบาลมีแผนที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 1 แล้วจึงได้ดำเนินการต่างๆให้เป็นรูปธรรมตามขั้นตอนและลำดับที่สำคัญ อันประกอบด้วย
- การประกาศพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการจัดตั้งและดำเนินงานของมหาวิทยาลัยฯในหนังสือพระราชกิจจานุเบกษา
- การจัดตั้ง “ สภาการศึกษา ” เพื่อควบคุมและดูแลการก่อสร้าง การร่างหลักสูตร การจัดหากำลังคน วัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ การเตรียมการวางแผนและงบประมาณแผ่นดินของมหาวิทยาลัยฯ
- มหาวิทยาลัยเมื่อเริ่มก่อตั้ง
- ประกอบด้วย ผู้บริหารมหาวิทยาลัย คือ
- อธิการบดี พ.อ.พระยาศรีวิศาลวาจา
- รองอธิการบดี ศาสตราจารย์นายแพทย์บุญสม มาร์ติน และ ศาสตราจารย์ดร.บัวเรศ คำทอง
- คณะ 4 คณะ ประกอบด้วย
- คณะแพทย์ศาสตร์
- คณะวิทยาศาสตร์
- คณะมนุษย์ศาสตร์ และ
- คณะสังคมศาสตร์
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จมาทรงเปิดการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยฯอย่างเป็นทางการเมื่อ “ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2507 ” และต่อมาก็ได้ถือเอาวันดังกล่าวเป็น “ วันสถาปนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ” ด้วย
การดำเนินงานและแผนพัฒนามหาวิทยาลัยมีต่อมาเป็นลำดับคือ การจัดตั้งคณะต่างๆขึ้นอีกหลายคณะ ตามหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชกิจจานุเบกษาเล่มอื่นในเวลาถัดมา
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2513 ในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ณ วัน เดือน ปี ดังกล่าว โดยมีจอมพลถนอม กิติขจร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ
การวางแผนการจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์และการดำเนินงานในเวลาต่อมา
เท่าที่ผู้เขียนพอทราบมาอย่างไม่เป็นทางการนั้น แผนการจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มต้นมาพร้อมกับการกำเนิดของมหาวิทยาลัย โดยท่านรองอธิการบดี ดร.บัวเรศ คำทอง ซึ่งเคยศึกษาในอังกฤษ และเริ่มต้นด้วยการเป็นอาจารย์มีความเป็นเพื่อนกับศาสตราจารย์อรุณ สรเทศน์ ซึ่งรับราชการที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาด้วยกัน ได้ขอร้องและเชิญให้ศาสตราจารย์อรุณ ให้เข้ามาช่วยงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใน 2 ด้านหลักคือ งานว่างแผนและออกแบบอาคารส่วนต่างๆของมหาวิทยาลัยฯและงานจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปพร้อมๆกัน โดยมีงานหลักที่สำคัญ ประกอบด้วย
- การเตรียมการร่างแผนงานของการเรียนการสอน ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ฯ ว่าจะเปิดสอนในคณะใดบ้าง เมื่อไร
- การร่างหลักสูตร เริ่มตั้งแต่สาขา(หรือภาควิชา)วิศวกรรมโยธา ตามมาตรฐานสากลและข้อกำหนดในการประกอบอาชีพวิศวกรรม ภายใต้การควบคุมดูแลของสภาวิศวกร(ในปัจจุบัน) เท่าที่ได้พิจารณาดูปรากฏว่าคล้ายคลึงกับหลักสูตรฯที่จุฬาเกือบทั้งหมด
- การจัดหาบุคคลากรที่จะมาทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้สอน (เป็นปัญหาหลักในสมัยนั้น)
- การจัดหาอาคารเรียน พร้อมทั้งอาคารปฏิบัติการ และอาคารธุรการ
- การจัดหาครุภัณฑ์ วัสดุ อุปกรณ์ ในการดำเนินงาน
- การของงบประมาณแผ่นดิน เพื่อบริหารงานในระยะเริ่มต้น รวมทั้งการขยายงานต่อไปในภายภาคหน้า
ผู้เขียน (รองศาสตราจารย์พิชัย บุณยะกาญจน) เรียนจบจากจุฬาฯในระดับปริญญาตรี และจบจาก SEATO Graduate School of Engineering ในระดับปริญญาโท สาขาแหล่งน้ำ ซึ่งกำลังรับราชการเป็นอาจารย์ในสถาบันดังกล่าว ฝ่ายไทย สังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ที่เดียวกันกับศาสตราจารย์อรุณ สรเทศน์) ได้ขอเสนอความจำนงกับท่านอาจารย์ไว้ว่า มีความสนใจที่จะขึ้นมารับราชการ เป็นอาจารย์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยคนหนึ่ง
ขณะเดียวกันทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เตรียมการหาอาจารย์ไว้ได้คือ
- รองศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ ตียาภรณ์ (ชาวเชียงใหม่) ในฐานะรักษาการคณบดีฯ และอาจารย์คุณวุฒิปริญญาโท ทางสิ่งแวดล้อม จากอเมริกา และ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุธรรม ยุตบุตร (ชาวเชียงใหม่) ในฐานะรักษาการเลขานุการคณะฯ และอาจารย์คุณวุฒิปริญญาโท ทางโครงสร้าง จากอเมริกา และ
- รองศาสตราจารย์ ดร.ถวัลย์วงศ์ ไกรโรจนานันท์ (ชาวกรุงเทพฯ) อาจารย์คุณวุฒิปริญญาเอก ทางไฟฟ้า จากอังกฤษ (นักเรียนทุนก.พ ของมหาวิทยาลัยชียงใหม่)
- รับราชการ โดยอาศัยอัตรากำลังยืมจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- อาคารสถานที่ด้านธุรการ ห้องพักอาจารย์ และห้องเรียนขอยืมจากหอพักชายอาคาร 1 ในขณะนั้น (ขณะนี้คือ คณะรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์)
- ครุภัณฑ์ และวัสดุอุปกรณ์ ขอยืมมาจากที่อื่น รวมทั้งบุคลากรสาย ข และสาย ค อีก 2-3 คน
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มเปิดสอนในสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา เป็นการเริ่มต้นด้วยการรับนักศึกษาเข้าเรียนรุ่นแรก(รหัส 136...) จำนวน 60 คน ด้วยอาจารย์ 3 คน เท่านั้น นับเป็นการเสี่ยงต่อการดำเนินงานและแผนการพัฒนาของคณะเป็นอย่างยิ่ง โดยเปิดเทอมต้นพร้อมกับคณะอื่นในมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2513 แต่ยังโชคดีที่กระบวนวิชาที่สอนในคณะฯมีเพียงวิชาเดียวคือ Drawing I สอนโดยอาจารย์สุพจน์ ผู้เขียนถูกเรียกตัวเข้ามารายงานตัวที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (โดยการโอนตัว) และเดินทางมาถึงเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2513 เพื่อมาเป็นอาจารย์ประจำคนที่4 หลังจากมหาวิทยาลัยเปิดเรียนภาคที่สอง ได้ราว 1 เดือนพอดี โดยได้รับการมอบหมายให้สอนกระบวนวิชา Drawing II (Descriptive Geometry) ส่วนอ.สุธรรม สอนกระบวนวิชา Materials of Construction กระบวนวิชาที่เหลือนักศึกษาต้องไปเรียนวิชาสายวิทยาศาสตร์ที่คณะวิทยาศาสตร์(เป็นกระบวนวิชาบังคับพื้นฐาน) เรียนวิชาสายมนุษย์ศาสตร์ ที่คณะมนุษย์ศาสตร์(เป็นกระบวนวิชาเลือกนอกคณะ เช่นกัน) ก็พอที่จะดำเนินการไปได้โดยไม่มีปัญหาใด
ครั้นถึงต้นปี พ.ศ. 2514 ทางคณะฯโชคดีที่ได้อาจารย์ทางสาขาวิศวกรรมโยธามาเพิ่มขึ้นอีกหลายคนโดยสมัครใจ และอาจารย์ทางสาขาวิศวกรรมเครื่องกลมาเพิ่มอีก 1 คน คือ
- อาจารย์คำนึง วัฒนคุณ (ชาวเชียงใหม่) ปริญญาโททางโครงสร้างจากอเมริกา(ปัจจุบันปี พ.ศ. 2555 เกษียณอายุจากราชการแล้ว) โดยสุดท้ายได้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็น “รองศาสตราจารย์”
- อาจารย์สมคิด สลัดยะนันท์ (ชาวกรุงเทพฯ) ปริญญาโททางเครื่องกล จากอังกฤษ(ปัจจุบันปี พ.ศ. 2555 เกษียณอายุจากราชการแล้ว) โดยสุดท้ายได้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็น “ผู้ช่วยศาสตราจารย์”
- อาจารย์ปราโมทย์ ฤทธิปรีดานันท์ (ชาวกรุงเทพฯ) ปริญญาโททางโครงสร้างจากอเมริกา (ปัจจุบันปี พ.ศ. 2555 เกษียณอายุราชการแล้ว) โดยสุดท้ายได้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็น “ผู้ช่วยศาสตราจารย์”
- อาจารย์โกมล ศักดิ์ศรี (ชาวกรุงเทพฯ) ปริญญาตรีทางวิศวกรรมโยธา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(ปัจจุบันปี พ.ศ. 2555 เกษียณอายุราชการแล้ว)
- อาจารย์สุพร คุตตะเทพ (ชาวเชียงใหม่) ปริญญาโททางสิ่งแวดล้อมจาก เอ.ไอ.ที
- อาจารย์ดร.สุขุม สุขพันธ์โพธาราม (ชาวกรุงเทพฯ) ปริญญาเอกทางโครงสร้างจากอเมริกา
พอย่างเข้าปีการศึกษา พ.ศ. 2515 นักศึกษาเริ่มขึ้นสู่ชั้นปีที่3 และเรียนกระบวนวิชาต่างๆในคณะเกือบทั้งหมดเช่น Strength of Materials I, Theory of Structures (Determinate), Surveying I, Hydraulics, Fundamental of Electrical Engineering, Material Testing Lab, และ 2 Weeks of Surveying Camp (เข้าค่ายสำรวจที่ “กองบังคับการฝึกพิเศษ ตชด. ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง” ซึ่งจะได้กล่าวโดยละเอียดในลำดับต่อไป)
ครั้นนักศึกษาขึ้นสู่ปีที่ 4 เป็นปีสุดท้าย ต้องเรียนวิชาในคณะทั้งหมดอันได้แก่ Hydrology, Applied Hydraulics, Theory of Structures (Indeterminate), Soil Mechanics, Reinforced Concrete Design, Design of Timber and Steel Structures, Surveying II, และ 2 Weeks of Surveying Camp (เข้าค่ายที่ค่าย ตชด. แม่แตงอีกครั้งหนึ่ง)
หมายเหตุ:
- การเข้าค่ายสำรวจที่ ตชด แม่แตง เนื่องจากขณะนั้น ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ยังไม่มีค่ายฝึกฯนักศึกษาเป็นการถาวร และประกอบกับอ.โกมล รู้จักกับท่านผู้กำกับของค่าย (พ.ต.ท.สุรยุทธ์ ปัทมดิลก) เป็นอย่างดี ท่านจึงได้กรุณาให้ที่พักแรมแก่อาจารย์และนักศึกษา พร้อมทั้งอนุญาตให้ใช้พื้นที่ของค่ายประมาณ 1,000 ไร่ เพื่อการฝึกงานสำรวจฯ ดังกล่าว
- โดยทางภาควิชาวิศวกรรมโยธาจะจัดทำแผนที่ (Topographic Map)ให้เป็นการตอบแทน
- ค่ายสำรวจครั้งที่ 1 จัดขึ้นในช่วงปิดเทอมภาคปลาย ของชั้นปีที่ 3 ประมาณ 2 อาทิตย์ เป็นการทำงานเกี่ยวกับ Topographic Surveying (ซึ่งประกอบด้วย ก.งานวงรอบ ข.งานระดับ ค.งานเก็บตำแหน่งและรายละเอียดต่างๆที่สำคัญในพื้นที่ และง.งานทำแผนที่)
- ค่ายสำรวจครั้งที่ 2 จัดขึ้น ณ สถานที่แห่งเดียวกัน ในช่วงปิดภาคการศึกษาภาคต้นของชั้นปีที่4 เป็นการทำงานเกี่ยวกับ Route Surveying ซึ่งเป็นงานเบื้องต้นในการสร้างถนน
ค่ายฝึกงานสำรวจของนักศึกษาวิศวฯมช. ณ ค่าย ตชด อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ (เป็นค่ายฯ ชั่วคราวครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2)

ทั้งผู้เขียน อ.ปราโมทย์ และ อ.โกมล จบมาจากภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยกัน ซึ่งที่นั้นให้ความสำคัญกับการเรียนวิชาวิศวกรรมสำรวจทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และภาคสนาม เป็นอันมาก พอใกล้ถึงกำหนดเวลาเข้าค่ายฝึกฯภาคสนามจึงปรึกษาหารือว่าเราจะพานักศึกษาปีที่3 ไปที่ไหนดี เพราะขณะนั้นคณะวิศวกรรมศาสตร์ยังไม่มีค่ายฝึกฯของเราเป็นการถาวรดังเช่นทุกวันนี้ โชคดีที่อ.โกมล เป็นเพื่อนนิสิตคนหนึ่งของน้องชาย พ.ต.ท.สุรยุทธ์ ปัทมดิลก ผู้กำกับกองบังคับการการฝึกพิเศษ ตชด ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง ซึ่งมีค่ายฝึกขนาดพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ทางทิศเหนือของมช.ห่างไปตามถนนเชียงใหม่-ฝาง ราว48 กิโลเมตร ไม่ใกล้หรือไกลจากคณะวิศวฯของเรามากนัก เป็นที่ที่เหมาะที่จะใช้เป็นค่ายฝึกงานสำรวจมาก ตกลงอ.โกมล รับอาสาจะเป็นผู้ไปเจรจาขอความกรุณาจากท่าน และได้รับความอนุเคราะห์จากท่านเป็นอย่างดียิ่ง ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ขอขอบคุณน้ำใจของผู้กำกับจากใจจริง
ก. สภาพทางภูมิศาสตร์ของค่าย ตชด. แม่แตง และอาคารต่างๆ
ค่าย ตชด แม่แตงอยู่ห่างไปทางทิศเหนือราว 48 กิโลเมตร อยู่ทางขวา ห่างจากถนนเชียงใหม่-ฝาง ประมาณ 500 เมตร
พื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าแพะ (ป่าโปร่ง) ที่ราบสูง เหมาะสำหรับงานฝึกภาคสนามของ ตชด ตัวค่ายประกอบด้วย ก.กองบังคับการค่าย ข.เรือนพักของผู้กำกับ(พ.ต.ท.สุรยุทธ์ ปัทมดิลก) รองผู้กำกับ(พ.ต.ต.สกล เพชรรัตน์) ครูฝึกทั้งชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนอีกราว 20-30 คน กำลังพลฯ อาคารเรือนพักผู้เข้ามารับการฝึกจุได้ประมาณ 150-200 คน และสนามฝึก(สนามฟุตบอล)ด้านหน้า
ข. นักศึกษา ครู และอาจารย์ผู้ควบคุมจากคณะวิศวฯ มช.
- นักศึกษาสาขาวิศวกรรมโยธารุ่นที่ 1 (รหัส136...) จำนวนประมาณ 48 คน (จากที่รับมาเริ่มต้น 60 คน)
- ครูปฏิบัติการ 1 คน (ครูประทีป วัณวิโรจน์) และนักการภารโรง 1 คน
- เจ้าหน้าที่ธุรการ 1 คน (คุณสุวรรณา ชวชาติ)
- อาจารย์จำนวน 6 คน (คือ อ.พิชัย, อ.ปราโมทย์, อ.โกมล, อ.สุขุม, อ.สุพร และ อ.สมคิด โดย อ.ปราโมทย์ เป็นเจ้าของวิชา)
ค. การเดินทางเข้าค่ายฯ
- มีรถของคณะฯ และมหาลัยฯ มาช่วยในการขนเครื่องมือและอุปกรณ์
- พร้อมทั้งนักศึกษาและสัมภาระที่จำเป็น จำนวน 48 คน
- ที่พักนักศึกษา เป็นเรือนแถวจำลองจุได้ 60 คน พร้อมห้องน้ำ ห้องครัว โรงอาหาร (ใช้ทำงาน Office Work ของนักศึกษาด้วย)
- เครื่องมือ และครูประทีปอยู่บ้านพักครูฝึก ที่ว่าง 1 หลัง
- อาจารย์ และครูสุวรรณาอยู่บ้านพักครูฝึกที่ว่างอีก 2 หลัง
- น้ำไหล ไฟสว่าง (ฟรี) ด้วยความอนุเคราะห์ของผู้กำกับ
หมายเหตุ:
- ครูฝึก ตชด ทั้งชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนที่มีอยู่ทั้งหมดในค่าย แบ่งกันทำหน้าที่ 2 อย่างคือ เป็นครูฝึกในค่ายหรือออกไปรบกับพวก ผกค ตามชายแดนส่วนต่างๆของภาคเหนือ โดยผลัดกันเป็นชุด
- ผู้กำกับได้กรุณาให้พวกเราอาจารย์ทั้ง 6 คน ได้เข้าพักบ้านพักฯที่ว่าง(เนื่องจาก เจ้าของต้องออกไปราชการสนามคราวละประมาณ 2 อาทิตย์ ถึง 1 เดือน 2 หลัง หลังละ 3 คน มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม
- อาจารย์ทั้ง 6 คนมีรถส่วนตัวของแต่ละคน จึงต่างคนต่างขับรถไปกันเอง
- อาหารทั้ง 3 มื้อ (มื้อเช้าและมื้อเย็นทานที่โรงอาหาร ส่วนมื้อกลางวัน พร้อมทั้งน้ำดื่มทุกคนต้องเอาไปเองทั้งอาจารย์และนักศึกษา) ได้รับความกรุณาให้ครอบครัวครูฝึกที่ทำอาหารและเครื่องดื่มขายที่ร้านสวัสดิการในค่าย ช่วยรับภาระจัดทำให้(เป็นอาหารที่ถูกปาก ปริมาณเพียงพอ แต่ราคาค่อนข้างถูก)
ง. งานประจำวัน
- อาจารย์ และนักศึกษาเดินทางถึงค่ายประมาณ 11.00 น. พอเข้าที่พักจัดแจงทุกอย่างส่วนตัวเสร็จ เข้ารับประทานอาหารกลางวันที่ค่ายเป็นมื้อแรก
- พักผ่อนประมาณครึ่งชั่วโมง อ.ปราโมทย์ และอ.โกมล ร่วมกันประชุมชี้แจงเรื่องต่างๆ
- มีการแบ่งนักศึกษาเป็น 8 Parties @ Party ละ 6 คน โดยอ.ทั้งสองคุมงานสนามคนละ 2 Parties ส่วนคนอื่นๆคุมคนละ 1 Party
- ประมาณ 13.00 น. เดินทางเข้าถึงพื้นที่ทำงานและรับผิดชอบของแต่ละParty พร้อมทั้งตอกPegs (หมายเหตุ: Partyซึ่งอยู่ติดกันใช้ Pegsร่วมกันทั้งหมด เพื่อการตรวจสอบทั้งงานวงรอบ และงานระดับของทั้ง 8 Party ให้สามารถมีคุณภาพดีตามเกณฑ์ แต่ละPartyมีจำนวนPegsทั้งหมดราว 20 ถึง 25 นับว่าเป็นงานที่หนักมาก
- กว่าจะถึง 16.00 น. ทำการ Reconnaissance พื้นที่เสร็จ กลับเข้าค่าย
- ประมาณ 16.00-17.30 น. ออกกำลังกายของนักศึกษาทุกคนตามอัธยาศัย(ส่วนมากเป็นการเตะตะกร้อหรือเล่นฟุตบอล)
- เสร็จแล้วอาบน้ำ แต่งตัว ทานอาหารเย็นประมาณ 18.00-18.30 น.
- เรียกประชุมรวมเวลา 19.30 น. ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
- เนื่องจากเป็นค่าย ตชด ซึ่งมีระเบียบวินัยเข้มงวดคล้ายทหาร
- 05.30 น. เป็นการเป่าแตรตื่นนอน และเริ่มฝึกต่างๆของครูฝึกพร้อมผู้เข้ารับการฝึก ทำให้ทั้งอาจารย์และนักศึกษาต้องตื่นแต่เช้าด้วยกันทุกคน
- 21.30 น. เป็นการเป่าแตรนอน ผู้เข้ารับการฝึกต้องปิดไฟอาคารนอนมืด และเข้านอนพร้อมกันทุกคน ส่วนนักศึกษาของเราที่มีงานทำจะต้องทำงานที่โรงอาหารเท่านั้น และเข้านอนไม่เกิน 23.00 น. เพื่อจะได้ตื่นเช้าๆ
- นักศึกษาที่ว่างห้ามเดินเพ่นพ่าน ต้องอยู่ที่โรงอาหารและสวัสดิการร้านค้า หรือเรือนนอนเท่านั้น ห้ามส่งเสียงดังเด็ดขาด โดยบางคนดูทีวี เล่นหมากรุก หรือเล่นเกมส์อื่นที่เหมาะสมตามสมควร
- เนื่องจากอยู่ในค่ายฝึก ตชด. ที่มีทั้งกฎระเบียบและวินัยที่เข้มงวดจัดมีกฎห้ามการเข้าออกของบุคลากรทุกคนในช่วงเวลา 21.30 น. ถึง 05.30 น. เป็นการฝึกระเบียบวินัยของทั้งอาจารย์และนักศึกษาทุกคนได้ดีมาก (ยกเว้น มีความจำเป็นพิเศษจะต้องขออนุญาตต่อเวรควบคุมที่ประตูค่ายทุกครั้ง)
- ในเวลางานทุกวัน นักศึกษาต้องรายงานให้อาจารย์ผู้ควบคุม Party ทราบที่หน้าห้องจ่ายเครื่องมือตอนเช้าช่วง 07.00 น.-08.00 น. พร้อมทั้งเบิกเครื่องมือต่างๆ ที่จำเป็นและเหมาะสม แล้วจึงออกเดินทางไปหน้างานพร้อมกันทุกคนของแต่ละ Party สำหรับอาจารย์จะออกไปดูการทำงานของนักศึกษาทุกเช้า (ประมาณ 10.00 น.-11.00 น.) และทุกบ่าย (ประมาณ 15.00 น.-16.00 น.) โดยตอนเย็นจะเดินกลับมาพร้อมนักศึกษาถึงค่ายฯ ประมาณ 16.30 น.
- แล้วก็ต่อด้วยภารกิจดังกล่าวมาแล้วเหมือนกันทุกวัน
- งานที่ต้องลุ้นคือ Plot เส้นวงรอบของแต่ละ Party ให้ทาบกันได้สนิทตามเกณฑ์ ซึ่งทั้ง 7 Party ที่อยู่ติดต่อกันด้านในผลงานดีมาก ยกเว้น Party ของอาจารย์คนหนึ่งที่ปิดพื้นที่ทั้งหมดทางด้านทิศเหนือติดกับลำห้วยช้างตาย คือ Party 8 มีความกว้างของวงรอบเพียง 200 เมตร ขณะที่ความยาวฯ ราว 800 ถึง 1000 เมตร (ซึ่งมี Strength of Figure ต่ำมาก) ไม่สามารถเข้ากับงานของ Party อื่นได้ จึงต้องตัดงานส่วนนั้นออกไป (ซึ่งเป็นประมาณ 10-20 % ของพื้นที่ทั้งหมด และไม่มีผลกระทบต่องานโดยรวมมากนัก – นับเป็นบทเรียนในการที่จะทำงานจริงในภายภาคหน้าต่อไป)
- Party นี้เรียกว่า “Party เจ้า (อันที่จริงคือ จาว) เหนือ” อันประกอบด้วยชาวเหนือล้วน 6-7 คน มี อ.ธนินทร์ ศังขศิลปิน (อดีตอาจารย์เก่าของเรา), อ.เทอดศักดิ์ โกไศยกานนท์ (ปัจจุบันเป็นคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา), อ.พงษ์อินทร์ รักอริยธรรม (ปัจจุบันเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเนชั่น หรือ มหาวิทยาโยนกของลำปางในอดีต), อ.อังสนา นิยมค้า (อดีตอาจารย์คณะวิศวฯ หลายสถาบัน – และเป็นวิศวกรสาวน้อยหนึ่งเดียวของรหัส 136...), นาวี เลาพงษ์สิต (พ่อเลี้ยงแห่งวงการค้าวัสดุก่อสร้างและ Logistics การขนส่งสินค้าของเชียงราย) เป็นต้น
จ. สรุปผลงานการฝึกภาคสนามงานสำรวจที่ค่ายนี้
- ทางด้านวิชาการสำรวจ อาจกล่าวได้ว่างานสนามที่วางแผนไว้คือ การทำ Topographic Map ของพื้นที่บริเวณค่ายฝึก ตชด. แม่แตงนี้ คล้ายกับงานจริงที่นักศึกษาจะต้องไปประสบในอนาคตทุกประการ ผมในฐานะอาจารย์ที่ได้มาควบคุมงานค่ายสำรวจด้วยคนหนึ่ง ขอสรุปผลว่า
- ก.ความตั้งใจในการทำงาน – ดี ถึง ดีมาก
- ข.ความมีระเบียบวินัย – ดี ถึง ดีมาก
- ค.การประยุกต์ใช้คำขวัญ SOTUS – ดีมาก
- ง.มนุษยสัมพันธ์และการวางตัวของนักศึกษา ทั้งที่มองจากฝ่ายอาจารย์และฝ่ายเจ้าของพื้นที่ – ดีมาก
- จ.ผลงาน Topographic Map ที่ได้และการที่จะนำไปใช้งานจริง ในอนาคต – ดี ถึง ดีมาก
- ทางด้านมนุษย์สัมพันธ์และสังคมกับเจ้าของพื้นที่ และชาวบ้านโดยรอบ – ได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมาก
- นอกจากการมาฝึกงานด้านวิชาการสำรวจ ตามหลักสูตรแล้ว โดยความกรุณาของผู้กำกับฝ่ายฝึกฯ และครูฝึกทั้งหลาย ยังสอนให้นักศึกษาและอาจารย์ได้เรียนรู้ลักษณะและขั้นตอนต่างๆ ของการฝึกตามสถานีต่างๆ ที่มีความลำบากต้องเข้มแข็งอดทน (เช่น การกระโดดหอสูง การไต่หน้าผา การไต่เชือกข้ามแม่น้ำ การเดินป่าทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ตลอดจนการดำรงชีพในป่า ฯ เป็นต้น) สามารถนำไปใช้กับชีวิตจริงในการดำรงชีวิตและการทำงานในด้านวิศวกรรมโยธาในอนาคตได้เป็นอย่างดี
พอขึ้นชั้นปีที่ 4 นักศึกษารุ่นบุกเบิกรุ่นนี้ การเรียนทั้งในภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และภาคสนามก็หนักและเข้มข้นขึ้น ก่อนการเข้าค่ายสำรวจครั้งที่ 2 (ณ ที่แห่งเดียวกันกับค่ายครั้งที่ 1 ) มีอาจารย์ท่านใหม่เข้ามาเสริมกำลังเพิ่มขึ้นคือ
- อาจารย์เจษฎา เกษมเศรษฐ์ (ชาวกรุงเทพฯ) – ปริญญาเอกทางโครงสร้างจากสถาบัน เอ ไอ ที (ปัจจุบันปี พ.ศ. 2555 เกษียณอายุราชการแล้ว โดยสุดท้ายได้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็น “รองศาสตราจารย์”)
- อาจารย์ลำดวน ศรีศักดา (ชาวใต้) – ปริญญาโทขนส่ง จากสถาบัน เอ ไอ ที (ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว โดยสุดท้ายได้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็น “รองศาสตราจารย์”)
- อาจารย์สุเทพ นิ่มนวล (ชาวเชียงใหม่) – ปริญญาโททางธรณีเทคนิคจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปัจจุบันปี พ.ศ. 2555 เกษียณอายุราชการแล้ว โดยสุดท้ายได้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็น “รองศาสตราจารย์”)
- อาจารย์ชิดชัย อนันตเศรษฐ์ (ชาวเชียงใหม่) – ปริญญาเอกทางธรณีเทคนิค จากออสเตรเลีย (ปัจจุบันปี พ.ศ. 2555 เกษียณอายุราชการแล้ว โดยสุดท้ายได้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็น “รองศาสตราจารย์”)
ค่ายฝึกสำรวจครั้งที่ 2 มีขึ้นตอนปิดเทอมต้นของปี พ.ศ. 2516 ณ ค่ายฝึก ตชด. แม่แตง เช่นเมื่อครั้งที่ 1
งานที่นักศึกษาจะต้องทำคือ Route Surveying ในพื้นที่เดิม ซึ่งบัดนี้มี Topographic Mapจากฝีมือของพวกเขาเอง เมื่อเสร็จจากค่ายครั้งที่ 1 และจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการทำ Office Work และ Field Work ประกอบกัน อาจารย์ผู้ควบคุมชุดนี้มีทั้งหมด 8 คน (จากเดิม 6 คน+ใหม่อีก 2 คน – รู้สึกว่าเป็นอาจารย์นิคม โชติกานนท์ กับอาจารย์ สำเริง จุลพุปสาสน์ จากสาขาวิชาเหมืองแร่ ได้กรุณามาช่วยเรา) การฝึกงานของนักศึกษาครั้งที่ 2 นี้เป็นช่วงเดือนกันยายน ต่อกับตุลาคม อากาศเย็นสบายกว่าช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นเดือนเริ่มต้นของฤดูร้อน
ถึงแม้ว่าที่ค่าย ตชด. แม่แตงนี้อยู่บนที่ราบสูง จะไม่มีต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ร่มเงา และต้องใช้รถไปสูบน้ำจากแม่น้ำปิงซึ่งอยู่ห่างไปราว 1 กิโลเมตร แต่พวกเราอาจารย์และนักศึกษาทุกคนต่างพึงพอใจและชื่นชมกับน้ำใจของเจ้าบ้านเป็นอย่างยิ่ง
ค่าย ตชด. มีบริการต่างๆ ให้พวกเราได้ทดลองใช้ (จากความกรุณาของผู้กำกับ) เมื่อมีเวลาว่าง เช่น
- การฝึกขี่ม้า และล่อ ซึ่งเขาใช้ในงานส่งกำลังบำรุง เมื่อต้องออกไปราชการยังถิ่นธุรกันดาร
- การทดลองใช้วิทยุสื่อสารแบบ Walkie – Talkie ในงานสนาม
- การฝึกการเดินป่าในเวลาค่ำคืน โดยใช้แผนที่ เข็มทิศ และพลุส่องสว่างฯ
- การฝึกตามสถานีรบต่างๆ เช่น กระโดดหอสูง การไต่หน้าผา การลำเลียงพลุและยุทธสัมภาระข้ามแม่น้ำโดยไต่เชือก (หรือลวดสลิง) เป็นต้น รวมทั้งหมด 10 สถานี
- การฝึกยิงปืน การใช้ระเบิดทั้งแบบขว้างและยิงจากปืนเล็กยาว
- การฝึกการโจมตีและการตั้งรบในเวลากลางคืน
- ทางค่ายมีเครือข่ายวิทยุสื่อสารที่ทันสมัย พร้อมรถพยาบาลสนาม และเฮลิคอปเตอร์เพื่อใช้งานต่างๆ ทั้งด้านการฝึก ตลอดจนการรบจริง ในการปราบปราม ผกค. บริเวณชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในภาคเหนือ
ผมในฐานะที่เคยไปคุมงานฝึกภาคสนาม ณ สถานที่ต่างๆ เช่น
- ค่าย ตชด. แม่แตง - ของนักศึกษา GEAR 1 (รุ่นรหัส 136...)
- กองพันสัตว์ต่าง แม่ริม - ของนักศึกษา GEAR 2 (รุ่นรหัส 146...)
- มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สันทราย – ของนักศึกษา GEAR 3 (รุ่นรหัส 156...)
- ตลาดและโรงเรียนฮอด – ของนักศึกษา GEAR 4 (รุ่นรหัส 166....)
ก่อนที่จะมาเป็นค่ายฝึกวิชาสำรวจจอมทองของคณะวิศวฯ มช เอง เป็นการถาวร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นไป ผม อาจารย์ และนักศึกษาที่เข้าค่ายสำรวจขอโหวตให้สถานที่ 1 เป็นที่ที่พวกเราประทับใจที่สุด
ค่ายฝึกตนของนักศึกษาวิศวฯ มช ณ กองพันสัตว์ต่าง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ (เป็นค่ายฯ ชั่วคราว ครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4)
การเลือกเข้าค่ายทั้งครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 ที่กองพันสัตว์ต่าง แม่ริม มีเหตุผลคล้ายกับการเข้าค่าย 2 ครั้งแรก คือ อ.โกมล รู้จักกับผู้บังคับบัญชากองพันสัตว์ต่างในขณะนั้น (พ.ท.สกุล กลันทกสุวรรณ-ศิษย์เก่าจากคณะเกษตรฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) เมื่อได้เรียนถึงความจำเป็นในการใช้สถานที่ฝึกภาคสนามของวิชาสำรวจ และเอ่ยปากขอใช้กองพันสัตว์ต่าง เป็นค่ายสำรวจแก่นักศึกษา GEAR 2 (รุ่นรหัส 146....) ในช่วงปิดภาคเรียน ทั้งชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 4 ท่านก็ได้ตอบสนองด้วยความยินดี เช่นเดียวกับเจ้าของบ้านรายแรก
กองพันสัตว์ต่าง แม่ริม เป็นหน่วยยุทธบริการทางส่งกำลังของกองทัพบกขนาดกองพัน เช่นเดียวกับกองพันทหารราบ (ค่ายกาวิละ) และกองพันทหารปืนใหญ่ แม่ริม มีพื้นที่บริเวณกองพันประมาณ 200-300 ไร่ รวมทั้งแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ติดต่อกับเทือกเขาสุเทพอีกหลายร้อยไร่ กองพันสัตว์ต่างอยู่ทางทิศเหนือของ มช ห่างไปตามถนนเชียงใหม่-ฝาง ราว 10 กิโลเมตร ค่อนข้างจะใกล้จากคณะวิศวฯ ของเรามาก แต่มีพื้นที่ที่จะฝึกงานสำรวจแก่นักศึกษาได้ดีมาก พวกเราชาวคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช ต้องขอขอบคุณในน้ำใจเมตตากรุณาของท่านผู้บังคับกองพันฯ เป็นอย่างยิ่ง
ในช่วงระยะเวลาประมาณ 1 ปีจากการเข้าค่ายฯ ที่ ตชด. แม่แตงมีอาจารย์ของสาขาวิศวกรรมโยธาเข้ามาเพิ่มจากเดิมอีกหลายท่าน คือ
- 1.อาจารย์ ร.อ.สุรศักดิ์ สรเพชญพิสัย (ชาวโคราช)-จบจาก ร.ร.แผนที่ และปริญญาโทจากต่างประเทศ โอนตัวมาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประมาณปี พ.ศ. 2518 แต่ท่านต้องจากเราไป (ถึงแก่กรรม) เมื่อปี พ.ศ. 2537 หลังจากมาอยู่ที่เชียงใหม่ได้เพียง 20 ปีเท่านั้นเอง
- อาจารย์เดชาวุธ จารุตามระ (ชาวกรุงเทพฯ)-ปริญญาตรีจากออสเตรเลีย และปริญญาโททางสิ่งแวดล้อมจากอังกฤษ (กำลังจะเกษียณอายุราชการ ปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2555 นี้เอง ในตำแหน่งทางวิชาการ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์”)
- อาจารย์อนุสรณ์ อินทรังษี (ชาวเชียงใหม่)-ปริญญาเองทางโครงสร้างจากออสเตรเลีย (ปัจจุบันปี พ.ศ. 2555 เกษียณอายุราชการแล้ว โดยสุดท้ายได้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็น “รองศาสตราจารย์”)
- อาจารย์ยงยุทธ สุขวนาชัยกุล (ชาวกรุงเทพฯ)-ปริญญาเอกทางแหล่งน้ำจากออสเตรเลีย (ปัจจุบันปี พ.ศ. 2555 เกษียณอายุราชการแล้ว โดยสุดท้ายได้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็น “รองศาสตราจารย์”) และ
- อาจารย์ธีรวัฒน์ ศรีฉัตราภิมุข (ชาวเชียงใหม่)-ปริญญาเอกทางโครงสร้างจากสหรัฐอเมริกา แล้วลาออกไปทำงานที่อื่น หลังจากมาอยู่กับเราได้ไม่กี่ปีรวมแล้วขณะนั้นสาขาวิศวกรรมโยธามีอาจารย์ประมาณ 15 คน
ก.สภาพทางภูมิศาสตร์ของกองพันสัตว์ต่าง แม่ริม และอาคารต่างๆ
พื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบเชิงเขา ลาดจากเชิงดอยสุเทพลงไปสู่ถนนสาย เชียงใหม่-ฝาง
ตัวกองพันเป็นสนามหญ้า และบริเวณโดยรอบขนาดประมาณ 200 ไร่ อาคารต่างๆ ประกอบด้วย :อาคารบังคับการฯ อาคารกองร้อยทหารเกณฑ์ 3 กองร้อย บ้านพักนายทหารสัญญาบัตร และนายทหารประทวน โรงที่อยู่ของสัตว์ต่างซึ่งประกอบด้วย ม้า ลา และล่อ สนามฝึกสัตว์ต่าง บ้านพักรับรอง และโรงอาหาร ร้านค้าสวัสดิการ
ด้านตะวันตกเป็นป่าผสม แปลงหญ้าไปจนติดเชิงเขา ซึ่งมีน้ำตกขนาดเล็กร่มรื่น พื้นที่ประมาณ 300 ไร่ รวมแล้วทั้งหมดมีพื้นที่ 500 ไร่ เหมาะสำหรับงานสนามวิชาสำรวจทาง Topographic Surveying และ Route Surveying เป็นอย่างมาก เป็นที่ที่มีน้ำและไฟฟ้า (ให้เราใช้ฟรี) อย่างอุดมสมบูรณ์
กองพันสัตว์ต่างนับเป็นหน่วยทหารที่มีกำลังพลหลายร้อยคน (มากกว่า ตชด. แม่แตงเป็นจำนวนมาก) และมีระเบียบวินัยของทหารที่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เช่น ตชด. แม่แตง ทำให้พวกเราอาจารย์และนักศึกษาวิศวฯ มช ต้องปฏิบัติตนเช่นทหารด้วย ทางกองพันฯ จะมีแตรปลุก (05.30น.) และแตรนอน (21.30) เป่าให้ได้ยินไปทั่วทั้งกองพัน
ข.นักศึกษา ครู และอาจารย์ผู้ควบคุมจากคณะวิศวฯ มช
- นักศึกษาสาขาวิศวกรรมโยธา รุ่นที่ 2 (รหัส 146....) จำนวนประมาณ 60 คน
- ครูปฏิบัติการ 2 คน (ครูประทีป วัณวิโรจน์ และครูอับดุลมาเล็ก บูรณา) และนักการภารโรง 1 คน
- เจ้าหน้าที่ธุรการ 1 คน (คุณสุพัตรา สันติภรภพ)
- อาจารย์ประมาณ 9 คน (ประกอบด้วย อ.พิชัย, อ.ปราโมทย์, อ.โกมล, อ.เจษฎา, อ.ชิดชัย, อ.ยงยุทธ, อ.สุธรรม, อ.สุขุม และอ.ธีรวัฒน์ –โดย อ.โกมล เป็นเจ้าของวิชา)
ค.การเดินทางเข้าค่ายฯ และที่พักแรมของอาจารย์กับนักศึกษา
- นับว่าสะดวกมากมีรถมหาวิทยาลัยฯ และรถคณะมาช่วยขนย้ายอุปกรณ์ ตลอดจนนักศึกษาพร้อมสัมภาระจำนวน 60 คน
- ที่พักนักศึกษา ครูพร้อมอุปกรณ์อยู่เรือนแถวของนายทหารชั้นประทวน (ซึ่งว่าง อยู่ในขณะนั้น) 5-6 หลัง พร้อมโรงอาหาร (ซึ่งใช้ทำงาน Office Works ด้วย) จุคนได้ประมาณ 100 คน อยู่ใกล้กัน
- อาจารย์ และคุณสุพัตรา อยู่บ้านรับรองชั้นเดียว ใต้ถุนสูง จุคนได้ประมาณหนึ่ง
- น้ำไหล ไฟสว่าง (ฟรี) ด้วยความเอื้อเฟื้อของผู้บังคับกองพัน
- อาจารย์ทุกคนมีรถยนต์ส่วนตัวจึงเอารถไปกันเอง
- อาหารทั้ง 3 มื้อ ดีและอุดมสมบูรณ์
หมายเหตุ:
- กองพันทหารสัตว์ต่าง มีกำลังพลจากทหารเกณฑ์ปีละประมาณ 3 กองร้อย ต้องได้รับการฝึกและอยู่ในประจำการเป็นเวลา 2 ปี (ในขณะนั้น)
- เป็นหน่วยช่วยรบ (หรือยุทธบริการ) ทำการรบร่วมกับทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ หน่วยรบพิเศษ และ ตชด. ในขณะนั้นต้องออกไปร่วมภารกิจ ในการต่อสู้กับ ผกค. ตามแนวชายแดน อยู่เป็นประจำ
ง. งานประจำวัน (ค่ายชั่วคราวครั้งที่ 3 – งานด้าน Topographic Surveying)
- ถึงแม้ว่าพื้นที่ของค่ายฯ กองพันสัตว์ต่างจะน้อยกว่าพื้นที่ของค่ายฯ ตชด. แม่แตงประมาณครึ่งหนึ่ง และจำนวน Stations และ Traverse Lines จะน้อยกว่า (มีประมาณ 12 ถึง 15 ) แต่งานทางด้านเก็บรายละเอียดของระดับพื้นดินเมื่อนำมาเขียนเส้น Contours และการเก็บขนาดและตำแหน่งของอาคารสถานที่ – เพื่อมารวมทำเป็น Topographic Map กลับมีมากกว่างานที่ ตชด. แม่แตงถึงสองเท่า
- งานครั้งนี้เป็นการทำ TOPOGRAPHIC MAP ในบริเวณตัวกองพันเท่านั้น
- อาจารย์เจ้าของวิชาฯ (แบ่งนักศึกษาเป็นประมาณ 10 Parties ต่อ อาจารย์ผู้ควบคุม 9 คน
- หลังจากที่เข้าค่ายพัก และจัดการเรื่องที่นอนเรียบร้อยแล้ว มารับประทานอาหารพร้อมกันกับอาจารย์ หลังจากพักผ่อนประมาณครึ่งชั่วโมง 13.00 น. ทุกคนพร้อมกันที่โรงอาหาร เพื่อออกไปทำ Reconnaisance Surveying (ดูภูมิประเทศที่ได้รับมอบหมาย แล้วตอกหมุด แต่ละ Party ที่อยู่ติดกันให้ใช้หมุดร่วมกัน) งานกว่าจะเสร็จกลับถึงที่พักประมาณ 16.00 น. ในวันแรก
- หลังจากนั้นกว่าจะถึงเวลา 18.00 น. เป็นการพักผ่อนของนักศึกษาทุกคนตามอัธยาศัย (เช่น เล่นฟุตบอล,เตะตะกร้อ,เล่นหมากรุก,เล่นหมากฮอส หรือดูทีวี)
- อาหารเย็นที่เก่าประมาณ 18.00 น. -18.30 น.
- เรียกประชุมรวมราว 19.30 น. ประมาณ 1 ชั่วโมง
- การเป่าแตรปลุก (05.30 น.) และแตรนอน (21.30 น.) ของค่ายทหารเป็นไปในลักษณะเดียวกันทุกแห่ง ส่วนพวกเราเมื่อตื่นแล้วจะลุกเลยหรือนอนต่ออีกสักหน่อยก็สุดแท้แต่อัธยาศัย ส่วนที่สำคัญหลังจากจบการเป่าแตรนอนทหารเกณฑ์ในแต่ละกองร้อยจะต้องดับไฟแล้วเข้านอน ห้ามทำเสียงดังเป็นอันขาด ส่วนพวกเราทั้งนักศึกษาและอาจารย์ก็ต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมเช่นเดียวกับเจ้าของสถานที่เขา
จ. สรุปผลงานการฝึกภาคสนามงานสำรวจที่ค่ายนี้
ผมในฐานะอาจารย์คนหนึ่ง ที่มาร่วมคุมนักศึกษาในค่ายสำรวจขอสรุปผลของการ ประเมินว่า
- ก. ความตั้งใจในการทำงาน – ดี
- ข. ความมีระเบียบวินัย – ดี
- ค. การประยุกต์ใช้คำขวัญ SOTUS – ดี
- ง. มนุษย์สัมพันธ์ และสังคมกับเจ้าของพื้นที่ – ดีปานกลาง
- จ. ผลงาน Topographic Mapที่ได้และมอบไว้ให้กับกองพันสัตว์ต่าง เพื่อที่จะได้นำไปใช้งานจริงในอนาคต – ดี
พอนักศึกษารุ่น GEAR 2 (รหัส 146....) ขึ้นชั้นปีที่ 4 ก็จะมีการเข้าค่ายสำรวจครั้งที่ 4 ณ กองพันสัตว์ต่างเช่นเดิม และในช่วงเวลาระหว่างการเข้าค่ายฯ ครั้งที่ 3 กับครั้งที่ 4 มีอาจารย์ท่านใหม่เข้ามาเสริมกำลังอีกหลายท่านคือ
- อาจารย์เกษม จันทรมังกร (ชาวเชียงใหม่) – ปริญญาเอกทางโครงสร้างจากสหรัฐอเมริกา (ลาออกจากราชการก่อนกำหนดเกษียณอายุที่ 60 ปี)
- อาจารย์อนิรุทธ์ ธงชัย (ชาวใต้) – ปริญญาเอกทางธรณีเทคนิคจากออสเตรเลีย (กำลังจะเกษียณอายุราชการ ปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2555 โดยสุดท้ายได้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็น “รองศาสตราจารย์”)
- อาจารย์บุญส่ง สัตโยภาส (ชาวเชียงใหม่) – ปริญญาเอกทางขนส่งจากฝรั่งเศส (กำลังจะเกษียณอายุราชการ ปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2555 โดยสุดท้ายได้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็น “รองศาสตราจารย์”)
- อาจารย์บุญเทพ นาเนกรังสรรค์ (ชาวลำปาง) – ปริญญาเอกทางธรณีเทคนิคจากเยอรมนี (กำลังจะเกษียณอายุราชการ ปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2555 โดยสุดท้ายได้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็น “ผู้ช่วยศาสตราจารย์”)
- อาจารย์อภิวัฒน์ โอฬารรัตนชัย (ชาวเชียงใหม่) – ปริญญาเอกทางโครงสร้างจากสหรัฐอเมริกา (ปัจจุบันปี พ.ศ. 2555 เกษียณอายุราชการแล้ว) รวมแล้วขณะปี พ.ศ. 2517 สาขาวิศวกรรมโยธามีอาจารย์ทั้งสิ้นประมาณ 20 คน
งานของค่ายสำรวจครั้งที่ 4
- ยังคงเป็นงานทาง Topographic Map ดังเดิม แต่ทำขยายต่อไปในพื้นที่อีกประมาณ 300 ไร่ที่เหลือ
- อ.สุรศักดิ์ เข้ามาเป็นเจ้าของวิชา Engineering II แทน อ.โกมล และอาจารย์คุม Party งานนักศึกษายังคงเป็นชุดเดิมส่วนใหญ่
- ครู 2 คนคุมชุดเดิม และนักการภารโรงเดิมเช่นกัน
- เจ้าหน้าที่ธุรการเปลี่ยนเป็นคุณโสภาวรรณ นันธิ
- จำนวน Party งาน และจำนวนคนในแต่ละ Party เช่นเดิม พวกเราทั้งอาจารย์ และนักศึกษาที่เข้าค่ายสำรวจ ขอโหวตให้สถานที่ 2 (กองพันสัตว์ต่าง) เป็นที่ที่พวกเราประทับใจเป็นอันดับ 2
ค่ายฝึกงานของนักศึกษาวิศวฯ มช ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ (เป็นค่ายฯ ชั่วคราว ครั้งที่ 5 เพียงครั้งเดียว)
การที่เราไปเข้าค่ายสำรวจครั้งที่ 5 ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ในครั้งนี้ เนื่องมาจากการที่ผู้เขียนรู้จักสนิทสนมกับศาสตราจารย์วิภาต บุญศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในขณะนั้น และท่านได้เชิญพวกเราชาววิศวฯ มช เข้าไปฝึกงานในสถานที่ดังกล่าว
- มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อยู่ห่างจาก มช ประมาณ 10-12 กิโลเมตร ตามถนนเชียงใหม่-พร้าว
- งานที่ทำ เป็น Topographic Surveying แต่เพียงอย่างเดียวในตัวมหาวิทยาลัย และแปลงเกษตร รวมพื้นที่ประมาณ 200 ไร่
- ภูมิประเทศเป็นที่ราบ ไม่มีป่า มีแต่อาคาร ถนน และแปลงเกษตร
- เป็นการฝึกงานของนักศึกษา GEAR 3 (รหัส 156....) หรือ GEAR 4 (รหัส 166....) (ไม่แน่ใจ) จำนวน 60 คน
- อาจารย์ปราโมทย์ กลับเข้ามาเป็นเจ้าของวิชา โดยมี อ.เกษม เข้ามาร่วมด้วยเป็นครั้งแรก ส่วนอาจารย์ท่านอื่นจำไม่ได้ว่ามีใครบ้าง
- ครู 2 คนเหมือนเดิม
- เจ้าหน้าที่ธุรการ เปลี่ยนกลับมาเป็นคุณสุพัตรา สันติภราภพ
- ที่พักอาจารย์และนักศึกษาใช้ได้ แต่บรรยากาศในการอยู่และทำงานไม่ดีเลย เนื่องจากสาเหตุบางประการ
- อาหารแย่มากทั้งคุณภาพ ปริมาณ บริการ และราคาจนต้องเปลี่ยนชุดคนทำอาหารกลางคัน
- ผลงาน Topographic ที่ทำได้อยู่ในเกณฑ์ใช้ได้
จากการประเมินผลความพอใจในค่ายสำรวจสถานที่ 5 ผลออกมาเพียงผ่าน (หรือได้เพียงเกรด C เท่านั้น)
ค่ายฝึกงานของนักศึกษาวิศวฯ มช ที่ตลาดและโรงเรียนฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ (เป็นค่ายฯ ชั่วคราว ครั้งที่ 6 เพียงครั้งเดียว)
การฝึกงาน ณ สถานที่นี้สืบเนื่องมาจากความสนิทสนมระหว่าง อ.สุธรรม และ อ.บุญเทพ กับนายบุญยืน ศุภสารสาทร นายอำเภอฮอดในขณะนั้น ต่อมาได้ย้ายไปเป็นนายอำเภอที่จังหวัดพิษณุโลก (บ้านเกิด) เกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และสุดท้ายได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (เลือกตั้ง) ของพิษณุโลก
ทางอำเภอฮอดมีโครงการ จปฐ. (ความจำเป็นพื้นฐาน) ของราษฎรในพื้นที่บางหมู่บ้านและตำบลทางด้านถนนและแหล่งน้ำ จึงได้ขอความร่วมมือมายังคณะวิศวฯ มช ผ่าน อ.สุธรรม บังเอิญขณะนั้นถึงเวลาเข้าค่ายสำรวจของนักศึกษา GEAR 4 (รหัส 166....) หรือ GEAR 5 (รหัส 176...) (ไม่แน่ใจ) พอดี ทางคณะจึงได้ตอบให้ความช่วยเหลือไป พร้อมๆ กับทำเป็นค่ายฝึกวิชาสำรวจไปด้วย
- งานสำรวจและงานออกแบบทางด้านถนน เป็นถนนเชื่อมต่อจากทางหลวงแผ่นดิน ส่วนงานสำรวจและออกแบบทางแหล่งน้ำอยู่อีกแห่งหนึ่งเป็นการนำน้ำจากแหล่งน้ำบนภูเขามาใช้ในหมู่บ้าน
- นับเป็นงานทาง Topographic Surveying ผสมกับ Route Surveying ซึ่งค่อนข้างมากและยาก
- งานด้านถนนอยู่บนที่ราบทำงานสะดวก แต่งานด้านแหล่งน้ำอยู่บนภูเขา
- อ.โกมล เป็นเจ้าของวิชา และ อ.บุญเทพ เป็นหัวหน้าค่ายฯ
- นักศึกษารุ่นนี้ประมาณ 90 คน
- อาจารย์ควบคุม Party ประมาณ 9 คน คือ อ.ปราโมทย์ อ.สุธรรม และ อ.พิชัย ฯ เป็นต้น
- ครู 2 คนเหมือนเดิม
- เจ้าหน้าที่ธุรการคือ คุณสุพัตรา สันติภราภพ
- ที่พักของนักศึกษาเป็นห้องเรียนและที่พักอาจารย์เป็นบ้านพักครู บรรยากาศพอใช้ได้ แต่อาหารซึ่งรับจากบุคลากรของอำเภอมีคุณภาพแย่มาก จนเราต้องขอบอกเลิกในอีก 3-4 วันต่อมาและทุกคนทั้งอาจารย์และนักศึกษาต้องไปหาซื้อกินกันเองที่ร้านอาหารในตลาด
- ผลงานทั้ง 2 ส่วนอยู่ในเกณฑ์ใช้ไม่ได้
จากการประเมินผลความพอใจในค่ายสำรวจสถานที่ 6 ผลออกมาไม่ผ่าน (เพราะเกรดได้เพียง D เท่านั้น) นับเป็นการเข้าค่ายสำรวจ (ชั่วคราว) แบบสัญจร เป็นครั้งสุดท้าย
ค่ายฝึกงานสำรวจของนักศึกษาวิศวฯ มช ถาวร – หมู่บ้านอีราง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
ไม่ใช่คณะวิศวฯ มช เท่านั้นที่มีปัญหาในการหาที่ตั้งค่ายฝึกงานสำรวจเป็นการถาวรเท่านั้น ทางคณะวิศวฯ จุฬาฯ (ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาเก่าของพวกอาจารย์เรามากกว่าครึ่ง) ก็เคยประสพปัญหาเช่นนี้มาก่อนหลายปี เท่าที่ผู้เขียนอ่านจากข้อเขียนเก่าๆ แบบเล่าสู่กันฟัง ทราบว่าเคยไปใช้ค่ายฯ ชั่วคราวมาหลายแห่ง เช่น 1.สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ อำเภอทับกวาง จังหวัดนครราชสีมา 2.อำเภอบวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี 3. อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี 4.ตำหนักดาราภิรมย์ (เป็นของจุฬาฯ ที่ได้รับพระราชทานมาจากพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระมเหสีในรัชกาลที่ 5 ภายหลังเมื่อพระนางสิ้นพระชนม์ ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ 5. ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี – ริมทางรถไฟสายมรณะสู่พม่า ซึ่งเป็น 5 ค่ายฯ ชั่วคราวครั้งสุดท้ายของจุฬาฯ และในสุดท้ายมาจบลงที่ ค่ายฝึกสำรวจ บ้านทองประสี หมู่บ้านท่าเสา ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2498 ซึ่งผู้เขียนกำลังอยู่ชั้นปีที่ 3 และได้เป็นผู้ใช้ค่ายสำรวจนั้นเป็นการประเดิม เมื่อปิดเทอมต้นปี พ.ศ. 2499 (งานทาง Topographic Surveying) ต่อด้วยงานทาง Photogrammetry ในปลายปีเดียวกัน (ขณะนั้นเป็นเดือนมีนาคม ของปี พ.ศ. 2500 – และจบการศึกษาหลังจากนั้น)
ทางพวกเราที่นี่คือ คณะวิศวฯ มช ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวดีจังพยายามหาที่ตั้งของค่ายสำรวจฯ เป็นการถาวรมาหลายปี แต่มาประสพผลสำเร็จราวปี พ.ศ. 2515
จากคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ทราบว่ามีผู้ต้องการขายที่เอกสารสิทธิ์ นส.3 จำนวน 5 ไร่ (แต่เนื้อที่จริงมีถึง 17 ไร่) ทางทิศตะวันตกของป่าเสื่อมโทรมที่เราใช้ฝึกงานสำรวจฯ เรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 จนถึงปัจจุบันปี พ.ศ. 2555 เป็นเวลาถึง 35 ปี
อ.คำนึง ได้นำข่าวสารดังกล่าวมาบอก พวกเราประกอบด้วย อ.คำนึง อ.พิชัย อ.ปราโมทย์ และ อ.สุพร ได้เดินทางไปพบกับลุงชื่น เพื่อดูสถานที่และในที่สุดได้ตกลงการซื้อขายด้วยราคา 5000 บาทเท่านั้นเอง (ปัจจุบันจากราคาประเมิน พื้นที่ดังกล่าวน่าจะมีมูลค่าหลายล้านบาท)
หลังจากได้พื้นที่แล้ว คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช จึงได้ตั้งงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารค่ายสำรวจนักศึกษา-อันประกอบด้วย 1.เรือนพักนักศึกษาชายพร้อมห้องน้ำ 2.บ้านพักอาจารย์พร้อมห้องน้ำ รวมทั้งที่เก็บเครื่องมือสำรวจ (ชั้นล่าง) 3.โรงสูบน้ำใช้จากลำเหมืองพร้อมถึงสูง 4.โรงเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 5.โรงครัวพร้อมสถานที่รับประทานอาหารของนักศึกษา และ 6.รั้วลวดหนามล้อมรอบ และได้เปิดเป็นการถาวรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา
ค่ายสำรวจฯ แห่งนี้ได้มาด้วยความลำบาก และใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จ ปัจจุบันเป็นทรัพย์สินของทางราชการ ภายใต้การดูแลของภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (โดยกรมธนารักษ์) มีอาคารสิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกหลัก เช่น ถนน ไฟฟ้า และน้ำ ซึ่งปัจจุบันใช้งานหลักในการฝึกภาควิชาสำรวจ ปิดปลายภาคของนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมโยธา ชั้นปีที่ 3 (ปีละประมาณ 100 คน) เพียงปีละครั้งๆละ 2 อาทิตย์เท่านั้น พวกเราชาววิศวฯ มช ทุกภาควิชา และทุกคน น่าจะได้ประโยชน์สถานที่นี่ให้คุ้มค่ามากกว่าเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
พิชัย บุณยะกาญจน
(22 มีนาคม 2555)