ตั้งแต่ผู้เขียนขึ้นมาเที่ยวเชียงใหม่ครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีก่อน จนกระทั่งได้มาเป็นชาวเชียงใหม่โดยสมบูรณ์ในบัดนี้ มีคำถามหนึ่งที่คนเชียงใหม่เป็นจำนวนไม่น้อยมักตั้งคำถามกับผมเสมอว่า “ ไปยังไง มายังไง ถึงได้มาอยู่เชียงใหม่ล่ะ?
ก่อนจะตอบคำถามดังกล่าว ผมขอแนะนำตัวเองเสียก่อนว่าผมไม่ใช่คนเชียงใหม่ หรือชาวเหนือ อีกทั้งไม่เคยมีความผูกพันกับเชียงใหม่ และชาวเหนือมาก่อนเลย
พื้นเพเดิมของผมเป็นคนอยุธยาทั้งพ่อและแม่ แต่หลังจากถือกำเนิดจากที่นั่นได้เพียงปีกว่าก็ต้องอพยพมาเป็นชาวกรุงเทพฯเป็นการถาวาร เพราะพ่อรับราชการอยู่ที่กรุงเทพฯมาตั้งแต่ต้น
จากนั้นจึงได้เข้าเรียนในระดับประถม มัธยม เตรียมอุดม และอุดมศึกษา จนกระทั่งเรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสาขาวิศวกรรมโยธา พร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่นอีกประมาณ 50 คน เมื่อปีพ.ศ.2500 ซึ่งทำให้คนอื่นเรียกขานกันเป็นเชิงล้อเลียนอย่างสนุกสนานว่า
“พวก วศบ.วิศวกรรมโยธา จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่น...500”
งานชิ้นแรกของชีวิตสำหรับผู้เขียนและบัณฑิตชายจากที่อื่นอีก 5 มหาวิทยาลัยในขณะนั้นคือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิยาลัยการศึกษาประสานมิตร(มศว.ประสานมิตรในปัจจุบัน) โดยไม่มีข้อยกเว้น แต่ได้รับการผ่อนผันในบางกรณีคือการเป็นทหารระยะเวลาที่ต้องไปรับราชการทหาร คือ 2 ปีเต็ม โดยได้รับพระราชทานยศว่าที่ร้อยตรี ว่าที่เรือตรี ว่าที่เรืออากาศตรี ตามเหล่าที่สังกัด แต่ถ้ามีข้อตกลง หรือความผูกพันที่ต้องไปรับราชการพลเรือน หรือเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ จะได้รับการผ่อนผันให้เข้ารับการอบรม และฝึกอยู่เพียง 2 เดือนเท่านั้น พอจบแล้วจะได้ติดยศ ปลดประจำการ แล้วจึงได้เข้าทำงานตามหน่วยราชการที่ตกลงกันไว้ต่อไปเมื่อจบฯผู้เขียนสอบชิงทุนการศึกษาจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย คลองเตยได้เพื่อไปศึกษาในระดับปริญญาโทที่ต่างประเทศต่อไป
ในสมัยนั้นผู้เรียนจบ วศบ. ซึ่งในประเทศมีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เพียงแห่งเดียว ถ้ารับราชการไม่ว่าเป็นพลเรือนหรือทหารจะได้รับเงินเดือนขั้นต้น 900 บาท (แต่รับจริงเพียง 876 บาท) แต่ถ้าได้เกียรตินิยมจะได้รับเพิ่มเป้น 1,050 บาท ผู้เขียนอยู่ในกลุ่มหลัง และโชคดีที่การท่าเรือฯเขาบรรจุให้ในอัตรา 1,200 บาท ท่านผู้อ่านแทบทุกคนมักจะอุทานออกมาด้วยความประหลาดใจว่าทำไมจึงได้เงินเดือนน้อยจังเลย แต่พอเทียบกับราคาทองทั้งรูปพรรณ และทองแท่งในขณะนั้นมีราคาบาท (15.6 กรัม) ละเพียง 300 บาท โดยประมาณจะเห็นว่าเงินเดือนผมซื้อทองได้ถึง 4 บาท ถ้าเป็นราคาทองปัจจุบันก็เกือบ 1 แสนบาทเลยทีเดียว ในขณะที่บัณฑิตสาขาต่างๆในปัจจุบันได้รับเงินเดือนโดยเฉลี่ยประมาณ 15,000 บาท สามารถซื้อทองได้ไม่ถึง 1 บาทเลย(ราคาทองในปัจจุบันบาทละประมาณ 24,000 ถึง 25,000 บาท)
ที่การท่าเรือฯโต๊ะทำงานของผมอยู่ติดกับ พี่สุภาพ นิลวรรณ ชาวเชียงใหม่ ซึ่งจบโยธา จากจุฬา ก่อนผม 3 รุ่น และอีก 1 ปี ถัดมาก็มีน้องเล็กซึ่งจบ วศบ.โยธา จากจุฬา เช่นกัน แต่หลังผม 1 รุ่น คือสุบิน ปิ่นขยัน(ดร) ชาวเชียงใหม่เช่นกันมานั่งที่โต๊ะทำงานถัดต่อไปจากผม ได้รับทุน และคอยจะไปเรียนปริญญาโทเมืองนอกต่อจากผมเช่นกัน
แต่ด้วยพรหมลิขิตหักเห และมีอุปสรรคบางประการ ผมทำงานที่นั่นจวบจนกลางปีพ.ศ.2502 ก็ยังไม่ได้ไปเรียนต่อตามสัญญา จึงเบี่ยงเบนวิถีชีวิตด้วยการลาออกมาเรียนปริญญาโทที่บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์สปอ (SEATOGraduate School of Engineering) ซึ่งมีที่ตั้งระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์กับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (ปัจจุบันเปลี่ยนสภาพเป็นสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology หรือ AIT ) ตั้งอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ปทุมธานี)
นักศึกษารุ่นแรกมีจำนวน 18 คน (เป็นฟิลิปปินส์ และปากีสถานชาติละ 2 คนนอกนั้นเป็นคนไทยทั้งหมด) เปิดสอนในระดับปริญญาโทสาขาชลศาสตร์โดยให้ทุนนักศึกษาคนละ 2,000 บาท(ซื้อทองได้เกือบ 7 บาท) ต่อเดือนผมซึ่งเคยได้รับเงินเดือนจากการท่าเรือฯเดือนละ 1,200 บาท แต่ได้ลาออกเพื่อมาเรียนที่ SEATOฯ ด้วยทุนตั้งเดือนละ 2,000 บาท จึงอยู่ได้อย่างสบายโดยไม่มีปัญหาแต่อย่างไร
ส่วนสุบิน ปิ่นขยัน ก็ได้ขอลามาเรียนจากการท่าเรือฯ และได้มาเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน โดยได้รับทั้งเงินเดือน และทุนรวมแล้ว (1,200 + 2,000 =3,200 บาท) เท่ากับเงินเดือนข้าราชการชั้นพิเศษ แต่ไม่นานก็ลาออกจากการท่าเรือฯ มาทำงานที่กองพลังน้ำ กรมชลประทาน สามเสน กทม.ในเวลาต่อมา
จากการที่ได้พบปะกับพี่สุภาพ และสุบิน และได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับเชียงใหม่เป็นอย่างมาก ประกอบกับเรื่องราวของเชียงใหม่ และล้านนาที่นำเสนอในหนังสืออนุสาร อสท. อีกทั้งเพลงจากวงดนตรีสุนทราภรณ์เกี่ยวกับสถานที่ดังกล่าว เช่น ถิ่นไทยงาม กุหลาบเชียงใหม่ น้ำตกห้วยแก้ว ผาเงอบฯ ที่ได้รับฟังอยู่บ่อย ทำให้อยากขึ้นมาเชียงใหม่มากขึ้น
ล่วงเข้าปลายปี 2502 ประมาณเดือนธันวาคม มาเรียนที่ SEATO ได้พักหนึ่งประมาณกลางภาคปลายนั่นเอง ผู้เขียนกับเพื่อนร่วมรุ่น หรือบางคนเป็นรุ่นน้อง 1 ปี ซึ่งส่วนมากเป็นอาจารย์ที่คณะวิศวจุฬาฯ ราว 4-5 คน (แต่ไม่มีสุบินเจ้าของถิ่นร่วมด้วย) จึงได้เดินทางขึ้นมาแอ่วเชียงใหม่กัน นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่สนุกสนาน ทรหด และประทับใจเป็นอย่างมาก
ราวปีพ.ศ. 2502 ทุกคนมีความคิดว่าเชียงใหม่อยู่ไกลจากกรุงเทพฯมาก และยังไม่ค่อยมีใครรู้จักเชียงใหม่ รวมทั้งแดนล้านนากันมากนักกิตติศัพท์ของเมืองเชียงใหม่สำหรับคนไทยทั่วไปคือ
“เชียงใหม่ เมืองงาม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดี ผู้คนดีมีน้ำใจสาวเชียงใหม่สวยงาม สมดังกล่าวชมว่าเป็นกุหลาบเชียงใหม่” การคมนาคม และติดต่อระหว่างกรุงเทพฯกับเชียงใหม่ได้แก่ โดยทางรถไฟ โดยทางรถยนต์ และรถไฟ โดยทางเครื่องบินนั้นค่อนข้างจะแพงสำหรับเศรษฐกิจในสมัยนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่พวกเรา
เมื่อปรึกษาหารือกันในหมู่พวกเราจึงได้ตัดสินใจเลือกเดินทางด้วยรถเมล์ บขส (สีส้ม) ซึ่งออกจากที่ทำการขนส่งสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือที่ตลาดหมอชิตเดิมทุกวันเวลาประมาณ 5 นาฬิกา ค่าโดยสารถ้าจำไม่ผิดคงจะราวๆ 100 ถึง 200 บาทต่อคน
ถนนจากกรุงเทพฯถึงเชียงใหม่ยังอยู่ในสภาพไม่ดี และสะดวกสบายดังเช่นสมัยนี้ เราเดินทางขึ้นมาโดยถนนพหลโยธินตามถนนลาดยางมะตอยชนิด 2 ช่องจราจรผ่านสระบุรี ลพบุรี ตาคลี นครสววรค์ รถแวะให้รับประทานอาหารกึ่งเช้ากึ่งเที่ยงที่นครสวรรค์ รถจอดพักประมาณครึ่งชั่วโมงจึงออกเดินทางต่อด้วยถนนลูกรังล้วน และสภาพที่ค่อนข้างทุลักทุเลจากถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ และมีฝุ่นสีแดงฟุ้งไปตลอดทางนับตั้งแต่นครสวรรค์ ผ่านกำแพงเพชร ตาก จนถึงอำเภอเถินจังหวัดลำปาง จากนั้นถนนพหลโยธินจะมีเส้นทางผ่านลำปาง พะเยา(ขณะนั้นยังเป็นอำเภอขึ้นอยู่กับจังหวัดเชียงราย) เชียงราย และไปสิ้นสุดที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายติดต่อกับอำเภอท่าขี้เหล็ก ของประเทศสหภาพพม่า (หรือเมียนม่าร์ในปัจจุบัน) โดยเป็นทางสายเก่าที่แคบ และคดเคี้ยว เป็นทางลูกรังทั้งสิ้น เดินทางด้วยความลำบาก และใช้เวลาที่ยาวนาน รถ บขส.พาเรามาถึงอำเภอเถินประมาณ 5 โมงเย็น รถจอดพักและเติมน้ำมัน ส่วนคนโดยสารได้เปลี่ยนอิริยาบท เข้าห้องน้ำ แล้วหาอาหารเย็นรับประทานให้เรียบร้อยราวครึ่งชั่วโมง จากนั้นออกเดินทางต่อสู่จังหวัดเชียงใหม่ผ่านอำเภอลี้ บ้านโฮ่ง ป่าซาง จังหวัดลำพูน และสารภี ด้วยระยะทางคงจะประมาณ 150 กิโลเมตร แต่รถต้องใช้เวลาวิ่งเกือบ 4 ชั่วโมง หรือบางทีก็มากกว่านั้น
ทางสายนี้เป็นเส้นทางสายเดียวที่จะสามรารถเดินทางเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ได้ ช่วงแรกเถิน-ลี้ เป็นทางบนเขาที่แคบมีโค้งมาก และสูงชัน รถทุกคันต้องขับอย่างช้าๆด้วยความระมัดระวัง พร้อมทั้งใช้แตรเตือนรถทุกคันที่แล่นสวนทางมา โดยใช้ความเร็วไม่เกิน 50 กม/ชม. ซ้ำยังมีรถสาลี่บรรทุกซุงไม้สัก แล่นไปมาเป็นจำนวนมาก เด็กรถบอกให้ฟังว่าสักราว 1 เดือนก่อนนั้นมีรถโดยสารบรรทุกผู้โดยสารซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาพยาบาลโรงพยาบาลแมคคอร์มิคเกิดอุบัติเหตุตกลงไปบริเวณหุบเขาข้างทาง มีคนเสียชีวิตนับสิบคน
ทางช่วงลี้-บ้านโฮ่งเป็นทางลงเขา แต่ยังลาดชันอยู่ จำนวนโค้งอันตรายลดลง สภาพทางดีขึ้น เป็นทางที่สวยงาม และร่มรื่นด้วยดงของต้นสักตลอดสองข้างทาง เราสามมารถแล่นได้เร็วขึ้นเป็นประมาณ 60-80 กม/ชม. ขณะนั้นเวลาประมาณทุ่มเศษ ท้องฟ้ามืดแล้วรถพาเราผ่านป่าซาง ลำพูนตามลำดับ สองข้างทางผ่านสารภีเป็นแนวต้นยางนาสูงส่วนใหญ่ มืดสนิท แต่สามารถมองเห็นได้จากไฟสูงของรถเมล์ที่ส่องไปตลอดทาง จนถึงบริเวณหนองหอย และบ้านเด่น สองข้างทางเปลี่ยนจากต้นยางมาเป็นอาคารบ้านเรือนตลอดจนร้านค้าของชาวบ้าน พอผ่านค่ายกาวิละได้ไม่นานก็มองเห็นสะพานนวรัฐซึ่งเป้นขัวเหล็ก คล้ายสะพานเหล็กขนาดใหญ่ที่ใช้กับทางรถไฟ รถบขส.เลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานฯข้ามแม่น้ำปิง แล้วไปสิ้นสุดการเดินทางอันยาวนานถึง 17 ชั่วโมงที่ริมถนนท่าแพตรงข้ามสำนักงานออมสินในปัจจุบัน ผู้โดยสารจำนวนกว่า 20 คน เดินทางลงจากรถหิ้วกระเป๋าเดินทางมาด้วยทุกคน เสื้อผ้า และร่างกายหลายส่วนรวมทั้งหน้าตา และผมล้วนปกคลุมไปด้วยฝุ่นสีแดงจากลูกรัง มองดูคล้ายมนุษย์ต่างดาว แทบจะจำสาระรูปตัวเองไม่ได้เลย
สามล้อแรงคนถีบ เป็นพาหนะพาพวกเราทั้ง 4-5 คนไปพักที่โรงแรมขนาดเล็ก(จำชื่อไม่ได้ ขณะนี้เปลี่ยนสภาพเป็นร้านค้าไปหมด) ที่เชิงสะพานแม่ข่าริมถนนช้างม่อย เหลือบมองดูนาฬิกาเป็นเวลา 4 ทุ่มพอดี
เมื่อได้ห้องพักเรียบร้อยแล้ว อาบน้ำสระผม และซักเสื้อผ้าชุดเดินทางตากไว้ จึงเข้านอนด้วยความสบักสะบอม และความอ่อนเพลีย ตื่นขึ้นมา 8 โมงเช้ากว่า อาบน้ำล้างหน้า แล้วแต่งตัวสวมเสื้อกันหนาว เพราะอุณหภูมิของเชียงใหม่ตอนเช้าช่วงเดือนธันวาคมคงประมาณ 15-20 องศาเซลเซียส นับว่าหนาวมากสำหรับพวกเราชาวกรุงเทพฯ เดินไปสักพักก็ถึงตลาดวโรรส(กาดหลวง) มีผู้คนและของขายมากมาย แต่ที่ดีมากในสายตาของพวกเราคือรถยนต์ และจักรยานยนต์ที่แล่นไปมาบนท้องถนนมีจำนวนน้อย ชาวบ้านส่วนใหญ่รวมทั้งนักเรียนเป็นจำนวนมากไป-มาที่ต่างๆซึ่งไม่ไกลนักด้วยการเดิน ถ้าไกลหน่อยหรือครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีใช้รถถีบหรือจักรยานสามล้อรับจ้างแรงคน การเดินทางระหว่างอำเภอซึ่งไม่ไกลนัก(คือไม่เกิน 50 กม.)ใช้รถคอกหมู(เป็นรถขนาดเล็กถึงปานกลาง ตัวถังต่อด้วยไม้รูปแบบคล้ายคอกหมู ผู้โดยสารนั่งได้ 2 แถว หันหน้าเข้าหากัน พร้อมสัมภาระเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นของขนาดใหญ่บรรทุกไปบนหลังคา) แต่มีจำนวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับรถสี่ล้อในสมัยนี้ ถ้าเป็นการเดินทางไกลระหว่างเมือง(ระยะทางเกิน 50 กม. เช่นเชียงใหม่-ฝาง, เชียงใหม่-ลำปาง, เชียงใหม่-ฮอด) ก็ใช้รถเมล์ขนาดกลางถึงใหญ่
สภาพของตัวเมืองเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2502 ยังไม่เจริญมากนักถ้าเทียบกับกรุงเทพฯก็คงต้องย้อนเวลากลับไปสัก 15 ถึง 20 ปีนั่นแหละ ถึงแม้ว่าความเจริญทางวัตถุ เช่น อาคารบ้านเรือน ร้านค้า ตึกแถว ถนนหนทาง ตลอดจนรถราจะมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นของเก่าฯ แต่จำนวนวัดและภิกษุ สามเณรมีมากมาย(จะเป็นรองเพียงจังหวัดอุบลราชธานีเท่านั้น) วัดมีแทบจะทุกถนนสายสำคัญ บางถนนมีวัดตั้งหลายวัด ภาพที่พระและเณรออกบิณฑบาตไปตามที่ต่างๆ ยามเช้า โดยมีพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ยคอยใส่บาตรเกือบทุกถนน มองดูแล้วน่าประทับใจมาก คนเฒ่าคนแก่นักอนุรักษ์ในการแต่งกาย ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นไว้ได้เป็นอย่างดี ภาพของชาย หญิง ขี่รถถีบกางจ้อง มองเห็นได้ทั่วไป สำหรับเยาวชนที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ทุกคนแต่งตัวเรียบร้อย หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส เดินเป็นกลุ่มไปโรงเรียนที่ถีบรถไปมีบ้างแต่เป็นเพียงส่วนน้อย การทะเลาะเบาะแว้งจนถึงกับยกพวกเข้าตีกันยังไม่มีและไม่เป็นที่รู้จักกัน
โรงเรียนหลักฯเช่น มงฟอร์ต ปรินส์รอยล์ เรยีนา ดารา พหฤทัย ยุพราช และวัฒโนฯ มีมาก่อนนั้นนานแล้ว
ส่วนสถาบันอาชีวะศึกษาเช่น วิทยาลัยครู วิทยาลัยอาชีวะ , และวิทยาลัยเทคนิค(เชิงดอย) เป็นสถาบันศึกษาของผู้ที่ต้องการเรียนต่อในระดับอาชีวะศึกษามีอยู่เพียง 3 แห่ง ส่วนมหาวิทยาลัยไม่ว่าแห่งไหน ยังไม่ถือกำเนิดในจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ที่จบมัธยม และเตรียมอุดม ถ้าประสงค์จะเรียนในระดับดังกล่าวจะต้องมีความรู้พื้นฐานที่ดี ฐานะทางการเงินที่ดี และมีความมุ่งมั่นในการเรียนระดับอุดมศึกษาที่แท้จริง ต้องเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยทั้ง 5 แห่งในกรุงเทพฯ เท่านั้น
พวกเรามีเวลาว่างที่จะท่องเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ ตลอดช่วงระยะเวลา 3-4 วันไม่มาก จึงต้องเลือกเที่ยวในที่ ๆ ไม่ไกลนัก ใช้เวลาน้อย ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก โดยมีโปรแกรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจตามลำดับดังนี้คือ
ผู้เขียนและเพื่อนๆ ทั้ง 4-5 คนมีความประทับใจในเชียงใหม่หลายด้านทั้งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม โดยเฉพาะผู้คนที่มีรูปร่างหน้าตางาม ยิ้มแย้มแจ่มใส และมีอัธยาศัยดีต่อคนทั่วไป (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนต่างถิ่น และนักท่องเที่ยว) ทำให้รู้สึกรักและชอบเชียงใหม่ จนตั้งใจไว้ว่าถ้าเป็นไปได้และมีโอกาสจะขึ้นมาทำงานและลงหลักปักฐานในบั้นปลายของชีวิตที่เชียงใหม่ตลอดไป
6 กรกฎาคม 2555