Civil Engineering CMU

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของผู้รับเหมาในจังหวัดเชียงใหม่

Factors Affecting Contractor Business in Chiang Mai Province
ชื่อผู้แต่ง: 
สัมพันธ์ โยธกุลสิริ
อาจารย์ที่ปรึกษา: 
รศ.ดร. อนิรุทธ์ ธงไชย
ประเภทงานวิจัย: 
การค้นคว้าแบบอิสระ
สาขา: 
วิศวกรรมและการบริหารการก่อสร้าง
ปีการศึกษา: 
2550
บทคัดย่อ: 

รายงานฉบับนี้เสนอผลการศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของผู้รับเหมาในจังหวัดเชียงใหม่ ทำการศึกษาโดยวิธีใช้แบบสอบถามเก็บข้อมูลความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆที่มีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจจากผู้รับเหมาก่อสร้างในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 108 ราย แล้วนำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์หาระดับความสำคัญของปัจจัยต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดแผนและมาตรการในการแก้ไขปัญหา

ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้ทำการแบ่งกลุ่มผู้รับเหมาเพื่อทำการเปรียบเทียบความแตกต่างในความคิดเห็นดังนี้คือ กลุ่มผู้รับเหมาที่มีเงินทุนหมุนเวียนต่ำกว่า 5 ล้านบาทเทียบกับกลุ่มผู้รับเหมาที่มีเงินทุนหมุนเวียนสูงกว่า 5 ล้านบาท กลุ่มผู้รับเหมาที่มีผลตอบแทนจากการประกอบธุรกิจขาดทุนหรือเท่าทุนเทียบกับกลุ่มผู้รับเหมาที่มีกำไร กลุ่มผู้รับเหมาที่รับเหมางานก่อสร้างอาคารเป็นส่วนใหญ่เทียบกับกลุ่มผู้รับเหมาอื่นๆที่ไม่ได้รับเหมางานก่อสร้างอาคาร และกลุ่มผู้รับเหมาที่มีปัญหาในการส่งมอบงานล่าช้าน้อยเทียบกับกลุ่มผู้รับเหมาที่มีปัญหาส่งมอบงานล่าช้ามาก ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า มีปัจจัยผลกระทบ 3 ประการที่กลุ่มผู้รับเหมามีความเห็นแตกต่างกันในระดับความสำคัญคือ การขาดการวางแผนและบริหารการเงินที่ดีในการดำเนินธุรกิจการขาดการวางแผนและควบคุมการใช้วัสดุที่ดี และการขาดการวางแผนเรื่องการใช้บุคลากรและการจัดอัตรากำลัง โดยกลุ่มผู้รับเหมาที่มีเงินทุนหมุนเวียนต่ำกว่า 5 ล้านบาทเห็นว่าปัจจัยต่าง ๆดังกล่าวมีระดับความสำคัญมากกว่ากลุ่มผู้รับเหมาที่มีเงินทุนหมุนเวียนสูงกว่า 5 ล้านบาทกลุ่มผู้รับเหมาที่มีผลตอบแทนจากการประกอบธุรกิจขาดทุนหรือเท่าทุนเห็นว่ามีระดับความสำคัญมากกว่ากลุ่มผู้รับเหมาที่มีกำไร และกลุ่มผู้รับเหมาที่รับเหมางานก่อสร้างอาคารเป็นส่วนใหญ่เห็นว่ามีระดับความสำคัญมากกว่ากลุ่มผู้รับเหมาที่รับเหมางานอื่นๆ อย่างไรก็ตามในการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มผู้รับเหมาที่มีปัญหาส่งมอบงานล่าช้าน้อยกับกลุ่ผู้รับเหมาที่มีปัญหาส่งมอบงานล่าช้ามากพบว่าไม่มีความเห็นแตกต่างกันอย่างชัดเจน

ข้อมูลและผลการวิเคราะห์ในการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ผู้รับเหมาก่อสร้างจำนวนมากในจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้รับเหมาขนาดค่อนข้างเล็ก ที่มีเงินทุนหมุนเวียนต่ำกว่า 5 ล้านบาท มักมีปัญหาขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการวางแผนจัดการ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องเงินทุนไม่เพียงพอสำหรับใช้ในการดำเนินกิจการก่อให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง ดังนั้นควรจะมีการกำหนดแผนและมาตรการแก้ไขปัญหาธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในจังหวัดเชียงใหม่ดังนี้ 1) ส่งเสริมให้มีการรวมตัวกันในรูปสมาคมผู้รับเหมาเพื่อให้เป็นองค์กรกลางสำหรับช่วยเหลือกัน 2) สถาบันการศึกษาควรจัดหลักสูตรเฉพาะเพื่อบรรยายให้ความรู้ หรือการฝึกอบรมบุคลากรให้กับผู้รับเหมาก่อสร้างต่าง ๆ 3) หน่วยงานรัฐควรกำหนดรูปแบบสัญญาก่อสร้างให้ยืดหยุ่นมากขึ้นพร้อมมีมาตรการช่วยเหลือผู้รับเหมาให้มีสภาพคล่อง เช่น กำหนดเงินงวด เงินประกันต่าง ๆ ให้เหมาะสม