ในการศึกษานี้ เป็นการศึกษาวิเคราะห์เชิงพื้นที่เบื้องต้นเพื่อศึกษาผลกระทบของพื้นที่ ภายในเขตคูเมืองจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยมีวัตถุประสงค์ของ การศึกษา 2 ประการ คือ (1) เพื่อเป็นการวิเคราะห์หาพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวเชิงสัมพัทธ์ใน พื้นที่เขตคูเมืองจังหวัดเชียงใหม่ (2) เพื่อเป็นการอธิบายสภาพพื้นที่ภายในเขตคูเมืองเชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เกิดแผ่นดินไหว พื้นที่ในบริเวณคูเมืองเชียงใหม่ได้ถูกเลือกเพื่อ เป็นกรณีศึกษา เนื่องจากเป็นพื้นที่ค่อนข้างปิด การเข้าผ่านพื้นที่ในภาวะฉุกเฉินอาจทำให้เกิดความ ยากลำบากได้ ซึ่งในการศึกษานี้ได้ทำการพิจารณาแบ่งพื้นที่ออกเป็น 9 โซน และประเมินคะแนน ความอ่อนแอสัมพัทธ์ของอาคารโดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น วัสดุโครงสร้างอาคาร จำนวน ความสูง และอายุอาคาร ผลการวิเคราะห์ที่ได้จะถูกนำมาแสดงผลในรูปแบบเชิงพื้นที่ด้วยเทคนิค การจัดทำฐานข้อมูลของระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS)
ผลจากการศึกษาโดยการเปรียบเทียบเชิงพื้นที่ของค่าความอ่อนแอสัมพัทธ์ของอาคาร สามารถแบ่งระดับความอ่อนแอได้เป็น 4 ระดับ โดยอาคารที่มีค่าระดับคะแนนมากจะมีความ อ่อนแอมาก ได้แก่ (1) ระดับแข็งแรงมาก มีคะแนนเท่ากับ 63 คะแนน (2) ระดับแข็งแรง มีคะแนนเท่ากับ 68 คะแนน (3) ระดับอ่อนแอ มีคะแนนเท่ากับ 70 คะแนน และ (4) ระดับ อ่อนแอมาก มีคะแนนเท่ากับ 75 คะแนน โดยในพื้นที่ศึกษาทั้ง 9 โซนพบว่า พื้นที่โซนที่ 5 ถือเป็น พื้นที่เสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากมีอัตราปริมาณอาคารที่มีความอ่อนแอมากที่สุด (ที่ระดับ 75 คะแนน) ต่ออาคารทั้งหมดมากที่สุด โดยมีอาคารที่มีค่าความอ่อนแอที่สุดจำนวน 512 อาคาร ต่อจำนวน ของอาคารในพื้นที่ทั้งหมด 604 อาคาร หรือคิดเป็นร้อยละ 84.77
ในการพิจารณาเพื่อการวางแผน และเตรียมความพร้อมของพื้นที่เสี่ยงภัย จะพิจารณาปัจจัยด้านความอ่อนแออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) ปัจจัยทางด้านความหนาแน่นของจำนวนอาคารในพื้นที่ ซึ่งพื้นที่โซนที่ 0 มีจำนวนความหนาแน่นของอาคารสูงสุด เท่ากับ 3,035 อาคารต่อตารางกิโลเมตร (2) ปัจจัยทางด้านความหนาแน่นของจำนวนประชากรในพื้นที่ โดยแบ่งช่วงเวลาเป็น 2 ช่วง ซึ่งช่วงเวลากลางวันพื้นที่โซนที่ 3 มีจำนวนความหนาแน่นของประชากรสูงสุดเท่ากับ 10,786 คนต่อตารางกิโลเมตร และช่วงเวลากลางคืน พื้นที่โซนที่ 8 มีจำนวนความหนาแน่นของประชากรสูงสุด เท่ากับ 5,861 คนต่อตารางกิโลเมตร (3) ปัจจัยทางด้านเส้นทางการจราจรของพื้นที่ พบว่า เส้นทางการเข้าออกระหว่างพื้นที่ภายใน และภายนอกของคูเมือง ซึ่งมีจุดเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ของช่องจราจรที่คับแคบ และมีจำนวนน้อย จึงทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงพื้นที่ในการให้ความช่วยเหลือ และการอพยพผู้ที่ได้รับบาดเจ็บออกจากพื้นที่ไปสู่โรงพยาบาลใกล้เคียง (4) ปัจจัยทางด้านสถานที่ตั้งของหน่วยงานให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินพบว่า ภายในพื้นที่มีเพียงสถานีดับเพลิงประตูเชียงใหม่ โดยตั้งอยู่ที่ถนนบำรุงบุรี ที่มีความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินได้ ซึ่งไม่สามารถครอบคลุมพื้นที่ในการให้ความดูแลช่วยเหลือหากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้น
จากผลการศึกษาสามารถกล่าวได้ว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ในตัวคูเมืองจังหวัดเชียงใหม่มีความเสี่ยงจากการเกิดเหตุการณ์การแผ่นดินไหว เนื่องจากปัจจัยความอ่อนแอของสภาพอาคารความหนาแน่นของประชากร จำนวนความหนาแน่นของสิ่งก่อสร้าง รวมทั้งความไม่เหมาะสมของเส้นทางจราจรที่ใช้ในการอพยพผู้คนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะสามารถช่วยบรรเทาความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้คือทุกคนควรมีการระวัง และมีความพร้อมรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้น