Civil Engineering CMU

ปัญหาการประยุกต์ใช้มาตรฐานไอเอสโอ 9000 ในองค์กรก่อสร้างขนาดกลาง กรณีศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่

Problem in Applying ISO 9000 Standard to Medium Scale Construction Organization: Case Studies of Chiang Mai Province
ชื่อผู้แต่ง: 
คมสัน ตันทรงเจริญ
อาจารย์ที่ปรึกษา: 
รศ.ดร. อนิรุทธ์ ธงไชย
ประเภทงานวิจัย: 
การค้นคว้าแบบอิสระ
สาขา: 
วิศวกรรมและการบริหารการก่อสร้าง
ปีการศึกษา: 
2550
บทคัดย่อ: 

รายงานฉบับนี้เสนอผลการศึกษาปัญหาการประยุกต์ใช้มาตรฐาน ISO 9000 ในองค์กร ก่อสร้างขนาดกลางในจังหวัดเชียงใหม่ ทำการศึกษาโดยใช้แบบสอบถามเก็บข้อมูลความคิดเห็น เกี่ยวกับปัญหาการประยุกต์ใช้ มาตรฐาน ISO 9000 ของผู้บริหารและพนักงานบริษัทก่อสร้าง ขนาดกลางในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 4 บริษัท โดยแยกเป็นบริษัทที่ได้เข้าสู่ระบบ ISO 9000 แล้ว จำนวน 2 บริษัท และ บริษัทที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบ ISO 9000 จำนวน 2 บริษัท แล้วนำข้อมูลมา ทำการวิเคราะห์ เพื่อหาข้อสรุปสำหรับเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหา

ในการวิเคราะห์ข้อมูลความคิดเห็นได้แยกประเด็นการวิเคราะห์ออกเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ ความสำคัญต่อการพัฒนาองค์กร ปัญหาอุปสรรค และประโยชน์ของการนำระบบ ISO 9000 มาประยุกต์ใช้ ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ในส่วนของความสำคัญนั้น ผู้ตอบแบบสอบถาม มีความเห็นว่าการประยุกต์ใช้ระบบ ISO 9000 มีความสำคัญต่อการพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้นใน 4 ด้านหลัก คือ 1) ด้านการสร้างระบบการทำงานอย่างมีระเบียบวินัยและมีแนวทางปฏิบัติชัดเจน 2) ด้าน ความสามารถในการทำงานให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด 3) ด้านการใช้วัสดุให้เกิดประโยชน์ มากที่สุดและลดการสูญเสียวัสดุ 4) ด้านการจัดการเอกสารให้เป็นระบบ ในส่วนของปัญหาและ อุปสรรคพบว่า ปัญหาที่สำคัญในการเข้าสู่ระบบ ISO 9000 2 ประการ คือ 1) บุคลากรไม่เข้าใจถึง การปฏิบัติงานตามข้อกำหนด 2) มีงานเอกสารเพิ่มขึ้นมาก ส่วนในเรื่องของประโยชน์นั้นพบว่า การนำระบบ ISO 9000 มาใช้มีประโยชน์ต่อการบริหารงานที่สำคัญ 6 ประการคือ 1) ทำ ให้การจัดการเอกสารและข้อมูลเป็นระบบมากขึ้น 2) ทำให้ได้รับวัสดุสำหรับการใช้งานที่มีคุณภาพ และได้รับการส่งมอบตรงเวลา 3) ทำให้การติดต่อประสานงานระหว่างฝ่ายต่าง ๆ มีประสิทธิภาพ มากขึ้น 4) ทำให้สามารถดำเนินงานก่อสร้างให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดได้ดีขึ้น 5) ทำให้ สามารถใช้เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ทำงานได้ดี เนื่องจากการตรวจซ่อมบำรุงที่มีแผนงานอย่างมี ระบบ 6) ทำให้ระดับความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในการเปรียบเทียบความ แตกต่างในความคิดเห็นระหว่างผู้บริหารและพนักงานของบริษัทที่เข้าและยังไม่เข้าสู่ระบบ ISO 9000 ซึ่งพบว่า ในประเด็นการให้ความสำคัญของระบบ ISO 9000 ต่อการพัฒนาองค์กรนั้น ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทที่เข้าและยังไม่เข้าสู่ระบบ ISO 9000 มีความเห็นไม่ต่างกัน ในส่วนประเด็นปัญหาอุปสรรค ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทที่ไม่เข้าสู่ระบบ ISO 9000 เห็นว่า การเข้าสู่ระบบ ISO 9000 มีปัญหาและอุปสรรคมากกว่าผู้บริหารและพนักงานของบริษัทที่เข้า สู่ระบบ ISO 9000 แล้ว ส่วนในเรื่องของประโยชน์ ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทที่เข้าสู่ระบบ ISO 9000 แล้ว เห็นว่าการเข้าสู่ระบบ ISO 9000 เป็นประโยชน์ในด้านต่าง ๆ มากกว่าผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทที่ยังไม่เข้าสู่ระบบ ISO 9000

จากข้อมูลและผลการวิเคราะห์ในการศึกษาครั้งนี้ทำ ให้สามารถเสนอแนวทาง การดำเนินงานที่สำคัญที่จะช่วยให้การปฏิบัติงานภายใต้ระบบ ISO 9000 สามารถดำเนินการได้ อย่างมีประสิทธิภาพ 3 ประการ ดังนี้ 1) การสร้างความรู้ความเข้าใจต่อการปฏิบัติตามข้อกำหนด ของระบบ ISO 9000 ให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง 2) การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานสำหรับผู้เกี่ยวข้อง ในระดับต่าง ๆ 3) การจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อช่วยให้การจัดเก็บรักษาเอกสารเป็นไปอย่างมีระบบ