Civil Engineering CMU

การวิเคราะห์ที่ตั้งโรงผสมแอสฟัลท์คอนกรีตโดยอาศัยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ กรณีศึกษาในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน

Analysis of Asphalt Concrete Plant Location by Geographic Information System : A Case Study in Chiang Mai and Lampoon Provinces
ชื่อผู้แต่ง: 
ไมตรี อรรถปรียางกูร
อาจารย์ที่ปรึกษา: 
รศ.ดร. ชยานนท์ หรรษภิญโญ
ประเภทงานวิจัย: 
การค้นคว้าแบบอิสระ
สาขา: 
วิศวกรรมและการบริหารการก่อสร้าง
ปีการศึกษา: 
2551
บทคัดย่อ: 

การค้นคว้าแบบอิสระนี้มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกตำแหน่งที่ตั้งโรงงานผสมแอสฟัลท์คอนกรีต และการวิเคราะห์ตำแหน่งที่ตั้งโรงงานโดยอาศัยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ โดยขอบเขตพื้นที่การศึกษาอยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน

การวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลทางสารสนเทศภูมิศาสตร์ประกอบไปด้วยข้อมูลเส้นชั้นความสูง ข้อมูลเส้นทางคมนาคม ข้อมูลที่ตั้งโรงผสมแอสฟัสต์คอนกรีตในปัจจุบัน ข้อมูลที่ตั้งโรงโม่หินในปัจจุบัน ข้อมูลความหนาแน่นประชากร ข้อมูลพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้ ข้อมูลขอบเขตการปกครองระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ข้อมูลสถานที่ราชการ ขั้นต้นทำการถ่วงน้ำหนักความสำคัญของแต่ละข้อมูลตามปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกตำแหน่งที่ตั้งโรงงานผสมแอสฟัลท์คอนกรีตจากการสอบถามจากผู้ประกอบการโรงผสมแอสฟัลต์คอนกรีต ซึ่งพบว่าการแข่งขันระหว่างโรงผสมแอสฟัสต์คอนกรีตอื่นๆ และระยะห่างจากแหล่งวัตถุดิบ มีความสำคัญมากที่สุด ปัจจัยที่ความสำคัญรองลงมาได้แก่ เส้นทางคมนาคม ต่อจากนั้นจะเป็นพื้นที่เขตอนุรักษ์ป่าไม้ และลักษณะภูมิประเทศ ส่วนปัจจัยความหนาแน่นประชากรมีค่าความสำคัญน้อยที่สุด จากนั้นได้ทำการนำเข้าข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ พร้อมกับปัจจัยที่มีการถ่วงน้ำหนักในแบบจำลองวิเคราะห์เพื่อวิเคราะห์ตำแหน่งที่ตั้งโรงงานผสมแอสฟัลท์คอนกรีตที่เหมาะสม

ผลการศึกษาสามารถใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์หาระดับความเหมาะสมของที่ตั้ง โรงผสมแอสฟัลต์คอนกรีตและสามารถทำการกำหนดจุดยุทธศาสตร์สำหรับตั้งโรงผสมแอสฟัลต์คอนกรีตเป็นจำนวน 5 แห่ง คือ (1) ตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง (2) ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ (3) ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง (4) ตำบลหนองจ๊อม อำเภอเมือง และ (5) ตำบลสันทราย อำเภอฝาง