Civil Engineering CMU

การศึกษาการให้สิทธิพิเศษแก่รถประจำทางที่ทางแยกโดยใช้โปรแกรม AIMSUN กรณีศึกษาสี่แยกโชคชัย 4 ถนนลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร

ชื่อผู้แต่ง: 
นายวรวิทย์ ปูหนุก
อาจารย์ที่ปรึกษา: 
รศ. ลำดวน ศรีศักดา
ประเภทงานวิจัย: 
โครงงานทางวิศวกรรมศาสตร์
สาขา: 
วิศวกรรมขนส่ง
ปีการศึกษา: 
2552
บทคัดย่อ: 

โครงงานนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการให้สิทธิพิเศษแก่รถโดยสารประจำทางที่ทางแยกโดยใช้โปรแกรม AIMSUN ช่วยในการศึกษา ในโครงงานนี้ได้เลือกสี่แยกโชคชัย 4 ถนนลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร เป็นกรณีศึกษา

ในการจำลองสภาพการจราจรที่ทางแยกกรณีศึกษาโดยใช้โปรแกรม AIMSUN ได้นำเข้าข้อมูลกายภาพถนน ปริมาณจราจรจำแนกประเภทรถ และการปิดเปิดสัญญาณไฟจากสภาพการจราจรจริง การใส่ค่าพารามิเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการจราจร เช่น การใส่ค่าความเร็วสูงสุดของตัวถนนที่รับได้ ค่าความเร่ง ความเร็วของยานพาหนะประเภทต่างๆ ซึ่งในที่นี้จำแนกยานพาหนะเป็น PCU และรถโดยสารประจำทางเนื่องจากโครวงงานนี้มุ่งเน้นที่จะศึกษารถโดยสารประจำทางโดยเฉพาะจึงให้รถประเภทอื่นเป็น PCU ทั้งหมด ในการสร้างแบบจำลองนั้นได้สร้างแบบจำลองขึ้น 3 แบบ เพื่อวิเคราะห์สภาพการจราจรบริเวณสี่แยกโชคชัย 4 ถนนลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร โดยแบบจำลองที่ 1 เป็นสถานการณ์การจราจรเป็นเหมือนสภาพปัจจุบัน  แบบจำลองที่ 2 แทนสถานการณ์ที่จัดให้มีช่องทางสำหรับรถประจำทางโดยเฉพาะอยู่ทางซ้ายสุดหนึ่งช่องโดยมีที่กั้นช่องจราจร กันไม่ให้รถประเภทอื่นสามารถเข้ามาในช่องทางรถโดยสารประจำทางได้  และแบบจำลองที่ 3 จัดให้มีช่องทางสำหรับรถประจำทางโดยเฉพาะอยู่ทางซ้ายสุดหนึ่งช่องโดยมีที่กั้นช่องจราจรกันไม่ให้รถประเภทอื่นสามารถเข้ามาในช่องทางรถโดยสารประจำทางได้เหมือนสถานการณ์ที่ 2 แต่เพิ่มการจัดให้ในเส้นทางขาเข้าเมืองนั้นช่องทางเดินรถของรถประจำทางจัดให้ได้รับสัญญาณไฟพิเศษ คือ สามารถผ่านทางแยกได้เลยไม่ต้องรอสัญญาณไฟจราจร

การคิดวิเคราะห์ความแตกต่างของแต่ละสถานการณ์จำลอง ดูจากค่าดัชนีที่ใช้ประเมินประสิทธิภาพการจราจร คือ  Flow, Delay, Speed, Number of Stopที่ได้จากผลการวิเคราะห์ โดยในแบบจำลองโดยโปรแกรม AIMSUN สามารถแสดงค่าดัชนีเหล่านี้ออกมาในรูปของตารางและจัดทำเป็นกราฟเพื่อง่ายต่อการเปรียบเทียบ        

จากผลการวิเคราะห์โดยแบบจำลองพบว่าในรูปแบบที่ 1 จัดให้แบบจำลองมีสภาพการจราจรเหมือนปัจจุบัน คือรถทุกชนิดสามารถใช้ช่องทางเดินรถไดก็ได้และมีสัญญาณไฟปกติ แต่ว่ารถโดยสารประจำทางจะไม่ค่อยมีความสะดวกเท่าที่ควรเพราะมักจะมีรถประเภทอื่นเข้ามาในช่องทางของรถประจำทาง โดยจากแบบจำลองการจราจรนั้นได้ผลว่า ค่า Speed, Delay และ Stop  ของ PCU เท่ากับ 26.2 km/h, 3.2 นาที และ3.0 #/veh ตามลำดับ ในขณะที่ ค่า Speed, Delay และ Stop ของรถโดยสารประจำทางเท่ากับ 31.5 km/h, 1.15 นาที และ 2.1 #/veh ตามลำดับ

ในรูปแบบที่ 2จัดให้แบบจำลองมีสภาพการจราจรโดยให้มีช่องทางสำหรับรถโดยสารประจำทางอยู่ทางซ้ายสุดหนึ่งช่องทาง คือรถชนิดอื่นไม่สามารถใช้ช่องทางนี้ได้และมีสัญญาณไฟปกติ โดยจากแบบจำลองการจราจรนั้นได้ผลว่าสภาพการจราจรของรถประจำทางดีขึ้นมาก ในขณะที่รถ PCU เลวลง คือ ค่า Speed, Delay และ Stop ของรถโดยสารประจำทางเท่ากับ 37.5 km/h, 0.45 นาที และ 0.8 #/veh ตามลำดับ ในขณะที่ ค่า Speed, Delay และ Stop  ของ PCU เท่ากับ 21.5 km/h, 3.43 นาที และ4.3 #/veh ตามลำดับ

ในแบบจำลองที่ 3 จัดให้มีช่องทางสำหรับรถประจำทางโดยเฉพาะอยู่ทางซ้ายสุดหนึ่งช่องโดยมีที่กั้นช่องจราจรกันไม่ให้รถประเภทอื่นสามารถเข้ามาในช่องทางรถโดยสารประจำทางได้และจัดให้ในเส้นทางขาเข้าเมืองนั้นช่องทางเดินรถของรถประจำทางจัดให้ได้รับสัญญาณไฟพิเศษคือสามารถผ่านทางแยกได้ตลอดเลย ได้ผลว่าสภาพการจราจรของรถประจำทางดีขึ้นอย่างมาก ในขณะที่รถ PCU เลวลงเท่ากับสถานการณ์ที่ 2  คือ ค่า Speed, Delay และ Stop ของรถโดยสารประจำทางเท่ากับ 44.9km/h, 0.18 นาที และ 0.4 #/veh ตามลำดับ ในขณะที่ ค่า Speed, Delay และ Stop  ของ PCU ยังคงเท่ากับ 21.5 km/h, , 3.43 นาที และ4.3 #/veh ตามลำดับ

ผลการวิเคราะห์สรุปได้ว่าในสถานการณ์สมมติที่ทำการทดสอบ การจัดให้มีช่องทางสำหรับรถประจำทางโดยเฉพาะอยู่ทางซ้ายสุดหนึ่งช่องโดยมีที่กั้นช่องจราจรกันไม่ให้รถประเภทอื่นสามารถเข้ามาในช่องทางรถโดยสารประจำทางได้และจัดให้ในเส้นทางขาเข้าเมืองนั้นช่องทางเดินรถของรถประจำทางจัดให้ได้รับสัญญาณไฟพิเศษ สามารถให้รถประจำทางวิ่งผ่านทางแยกโชคชัย 4 ได้ดีที่สุด