โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาถึงแนวโน้ม (Trend) การเสื่อมสภาพของอิฐดินขซีเมนต์ (Soil cement) หรืออิฐบล็อกประสาน (Interlocking Block) โดยวิธีการทดสอบแบบแห้งสลับเปียก (Wet and Dry Condition) เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์การเสื่อมสภาพของอิฐดินซีเมนต์ โดยมีน้ำเป็นตัวกัดกร่อน ซึ่งใช้เกณฑ์พิจารณาจาก 3 ปัจจัย คือ ค่ากำลังรับแรงอัดของอิฐดินซีเมนต์ ร้อยละของการสูญเสียน้ำหนัก และลักษณะทางกายภาพของอิฐดินซีเมนต์
จากการทดสอบการเสื่อมสภาพของอิฐดินซีเมนต์ภายใต้การทดสอบแบบแห้งสลับเปียก พบว่าการสึกกร่อนของอิฐดินซีเมนต์ โดยใช้น้ำเป็นตัวกัดกร่อน เกิดกระบวนการกัดกร่อนที่แปรผันตรงกับระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น แต่จะเกิดในลักษณะที่ค่อย ๆ ลดลงแบบค่อยเป็นค่อยไปและต้องใช้ระยะเวลานาน
ผลการทดสอบทางด้านน้ำหนัก (Weight Loss) น้ำหนักของอิฐดินซีเมนต์ลดลงแปรผันตรงกับระยะเวลา เกิดการเสื่อมสภาพทางด้านน้ำหนักแบบช้า ซึ่งได้ค่าเฉลี่ยร้อยละของการสูญเสียน้ำหนัก (Percent Weight loss) คือ 4.8 %จากผลการทดลองของตัวอย่างทั้งหมด 4 ชุดการทดลอง จำนวนทั้งสิ้น 46 รอบการทดลอง เป็นระยะเวลาในการทดสอบทั้งรวมสิ้น 90 วัน
ผลการทดสอบทางด้านกำลังของวัสดุ กำลังรับแรงอัด (Compressive Strength) ลดลงเฉลี่ยทั้ง 3 ชุดการทดลอง เท่ากับ 7.71 ksc คิดเทียบเป็นค่าเฉลี่ยร้อยละลดลงเท่ากับ ร้อยละ 7.0 เทียบจากค่ากำลังรับแรงอัดก่อนเริ่มทำการทดสอบ และได้ค่ากำลังรับแรงอัดเฉลี่ยของทั้ง 3 ชุดการทดลองภายหลังการทดสอบ เท่ากับ 80.29 ksc
ผลทางด้านการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของอิฐดินซีเมนต์ มีดังนี้ เกิดรอยแตกร้าวที่บริเวณผิวและเนื้อของอิฐดินซีเมนต์ภายหลังการทดสอบแล้วเสร็จมีจำนวนอิฐบล็อกที่เกิดรอยร้าวประมาณ ร้อยละ 20 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด เกิดการสึกกร่อนของอิฐบล็อกประสานบริเวณรอบรูเสียบเหล็กเสริม รอยบาก และดอกของอิฐบล็อก สีของอิฐบล็อกประสานมีสีซีดลง