ปริมาณการเสียรูปในแนวราบของ Diaphragm Wall และดินรอบๆบริเวณขุดเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะต้องพิจารณาในการออกแบบระบบค้ำยันดินขุด การศึกษานี้ได้วิจัยถึงพฤติกรรมของ Diaphragm Wallโดยใช้วิธี Finite Element จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Plaxis
ช่วยในการวิเคราะห์ Diaphragm Wallที่ศึกษามีความหนา 1 เมตร ลึก 10 เมตร โดยพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างขั้นตอนการก่อสร้างแบบธรรมดา กับขั้นตอนการก่อสร้างทางลอดทางแยกข่วงสิงห์ โดยจำลองดินเหนียวและดินทรายเป็นแบบ Elasto-Plastic (Mohr-Coulomb) ส่วน Diaphragm Wall, Beam และค้ำยันเหล็กใช้แบบจำลอง Elastic ศึกษาพฤติกรรมการเคลื่อนตัวในแนวราบ หน่วยแรงในแนวราบ การทรุดตัวของผิวดิน และการพองตัวของดินก้นหลุมโดยเปรียบเทียบระหว่างขั้นตอนการก่อสร้างผนังไดอะแฟรมทั่วไป กับขั้นตอนการก่อสร้างผนังไดอะแฟรมทางลอดทางแยกข่วงสิงห์ พบว่าพฤติกรรมด้านการเคลื่อนตัวในแนวราบและหน่วยแรงในแนวราบของรูปแบบการก่อสร้างทั้งสองแบบต่างกันเนื่องมาจากรูปแบบการก่อสร้าง เนื่องมาจากขั้นตอนการก่อสร้างผนังไดอะแฟรมทางลอดทางแยกข่วงสิงห์นั้นมีการยึดผนังไว้กับสะพานตั้งแต่เริ่ม ทำให้การเคลื่อนที่ที่ปลายผนังด้านบนน้อยมาก ทำให้เกิดแรงเฉือนและโมเมนต์ดัดที่สูงกว่าขั้นตอนการก่อสร้างผนังไดอะแฟรมทั่วไป อย่างเห็นได้ชัด ส่วนขนาดการทรุดตัวของทั้งสองแบบมีค่าใกล้เคียงกัน การพองตัวของดินก้นหลุมทั้งสองแบบมีรูปแบบและขนาดใกล้เคียงกัน จากผลที่ได้โดยรวมแล้ว ขั้นตอนการก่อสร้างผนังไดอะแฟรมทางลอดทางแยกข่วงสิงห์นั้นมีข้อได้เปรียบกว่าขั้นตอนการก่อสร้างผนังไดอะแฟรมทั่วไป ตรงที่สามารถใช้งานพื้นที่ด้านบนได้เร็วกว่า เหมาะสำหรับการก่อสร้างในบริเวณที่การจราจรคับคั่ง แต่ก็ต้องระมัดระวังในการออกแบบผนังไดอะแฟรม เนื่องจากภาวะการรับแรงเฉือนและโมเมนต์ดัดที่สูงกว่าแบบขั้นตอนการก่อสร้างผนังไดอะแฟรมทั่วไป จึงควรมีการเสริมโครงสร้างความแข็งแรง โดยเฉพาะส่วนปลายบนของผนังที่มีผลเนื่องมาจากหน่วยแรงต่างๆนั่นเอง