Civil Engineering CMU

การออกแบบและตรวจสอบคุณสมบัติการรับแรงของฝาท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมตะเกียบไม้ไผ่เหลือใช้

ชื่อผู้แต่ง: 
นายกิตติภูมิ สัจสัญญาวุฒิ
ชื่อผู้แต่ง: 
นายณัฎฐ์ ตันวัฒนานันท์
อาจารย์ที่ปรึกษา: 
อ.ดร. อภิวัฒน์ โอฬารรัตนชัย
ประเภทงานวิจัย: 
โครงงานทางวิศวกรรมศาสตร์
สาขา: 
วิศวกรรมโครงสร้าง
ปีการศึกษา: 
2552
บทคัดย่อ: 

คอนกรีตเสริมไม้ไผ่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ใช้ในการก่อสร้างถ้าไม่ใช้เหล็กเสริม เพราะว่าไม้ไผ่เป็นวัสดุทางธรรมชาติ ราคาถูก หาได้ง่ายในท้องถิ่น และไม่เกิดปัญหาจากการทำลายโดยเกลือคลอไรด์ เหมาะกับการก่อสร้างที่ใช้เงินลงทุนต่ำ และใช้กับการก่อสร้างบริเวณที่เจอปัญหาเกลือคลอไรด์ เช่น บ้านของผู้มีรายได้ต่ำ โรงเก็บเกลือ บ้านที่ประสบปัญหาดินเค็ม เป็นต้น

 โครงการวิจัยชิ้นนี้นั้น เป็นการทดสอบคุณสมบัติของคอนกรีตเสริมตะเกียบไม้ไผ่ที่เหลือใช้เพื่อการออกแบบฝาท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมไม้ไผ่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาปริมาณตะเกียบไม้ไผ่ที่ดีที่สุดที่ใช้เป็นโครงของฝาท่อระบายน้ำคอนกรีต โดยอาศัยการทดสอบที่ภาควิชาวิศวกรรมโยธามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยผลการศึกษาจะทำให้ทราบปริมาณที่เหมาะสมที่สุดของตะเกียบไม้ไผ่ในการนำไปใช้งาน  และได้ข้อมูลเพื่อการออกแบบฝาท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมไม้ไผ่ การศึกษาแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ

  1.  การออกแบบโครงตะเกียบไม้ไผ่ในจำนวนที่แตกต่างกันออกไป เพื่อจะสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปสรุปหาจำนวนของตะเกียบไม้ไผ่ที่เหมาะสม
  2. การออกแบบส่วนผสมของคอนกรีตต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติของคอนกรีตให้เหมาะสม ตามค่ามาตรฐานที่กำหนด
  3. การรวบรวมข้อมูลผลการทดสอบการหาค่ากำลังอัดประลัยของตัวอย่างทดสอบ เพื่อหาจำนวนของตะเกียบไม้ไผ่ที่เหมาะสมที่สุด

ผลจากการศึกษาสรุปได้ว่า การที่เราใช้ตะเกียบไม้ไผ่เป็นตัวเสริมแรงในโครงสร้างของฝาท่อระบายน้ำคอนกรีตสามารถช่วยให้คุณสมบัติในการรับแรงของโครงสร้างดีขึ้น โดยความสามารถในการรับแรงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราทำการเพิ่มจำนวนก้านของโครงตะเกียบ แต่มีแนวโน้มที่จะมีอัตราการเพิ่มขึ้นที่ลดลงเมื่อเทียบกับการเพิ่มจำนวนก้านตะเกียบในจำนวนที่เท่าเดิม ซึ่งสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปคำนวณเพื่อหาจุดคุ้มทุนในการออกแบบต่อไป