การศึกษาโครงงานเรื่อง รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ –เชียงใหม่ นี้ ได้ศึกษาถึงการหาแนวทางในการนำ ระบบรถไฟความเร็วสูงมาใช้ในภาคเหนือ ซึ่งปัจจุบันการเดินทางโดยรถไฟในภาคเหนือ มีประชากรเดินทางกันหนาแน่น และเกิดปัญหาในด้านการให้บริการแก่ประชากรมาก ด้วยเหตุแรงจูงใจตรงนี้จึงทำให้ผู้จัดทำโครงงานได้ศึกษาวิเคราะห์เพื่อหาความเหมาะสมในการนำระบบรถไฟความเร็วสูง มาใช้ในภาคเหนือ
ในการศึกษาหาการนำระบบรถไฟความเร็วสูง มาใช้ได้ศึกษารถไฟความเร็วสูงอยู่ 2 ระบบ คือ ระบบ ชินคันเซ็น ของญี่ปุ่น และระบบ ทีจีวี (TGV) ของ ฝรั่งเศส โดยได้พิจารณาเป็นส่วน ๆ คือ ระบบหัวรถจักร,ระบบการวางราง,ระบบสัญญาณไฟ,การวางเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ และการประมาณราคาการสร้างเส้นทาง เพื่อหาว่าระบบไหนเหมาะสมแก่การนำมาใช้เป็น รถไฟความเร็วสูงสายเหนือ
ในการศึกษาโครงงานฉบับนี้ได้สรุปว่า ระบบหัวรถจักรที่ควรเป็นคือระบบ EMU ระบบการวางรางใช้เทคโนโลยีการวางรางของ TGV ระบบสัญญาณไฟใช้ของ ทีจีวี (TGV) การวางเส้นทางใช้เป็นทางคู่และจะใช้เส้นทางเดิม จาก กรุงเทพ –อุตรดิตถ์ และ ลำพูน –เชียงใหม่ แต่ในช่วง อุตรดิตถ์ –ลำพูน มีการวางแนวเส้นทางใหม่ โดยแนวเส้นทางใหม่จะมีการ เจาะอุโมงค์ 9 อุโมงค์ และสร้างสะพาน 5 สะพาน โดยระยะทางรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ กรุงเทพ –เชียงใหม่ จะมีระยะทาง 679 กิโลเมตร และผลการประมาณราคาเบื้องต้นของการสร้างทางวิ่งรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ (ก่อสร้างทางคู่ แบบมาตรฐาน อุโมงค์ และสะพาน) มีค่าเท่ากับ 127,648.63 ล้านบาท