Civil Engineering CMU

การปรับปรุงคุณสมบัติดินจากการสลายตัวของหินดินดานแม่เมาะ

ชื่อผู้แต่ง: 
นายทรงกรด เกื้อกูล
ชื่อผู้แต่ง: 
นายสราวุธ พันธ์เลิศระพี
อาจารย์ที่ปรึกษา: 
รศ.ดร. อนิรุทธ์ ธงไชย
ประเภทงานวิจัย: 
โครงงานทางวิศวกรรมศาสตร์
สาขา: 
วิศวกรรมธรณีเทคนิค
ปีการศึกษา: 
2553
บทคัดย่อ: 

โครงงานนี้ได้ศึกษาถึงผลกระทบจากเวลาที่ส่งผลต่อกำลังรับแรงของดิน การเปลี่ยนแปลงขนาดของดินที่จะใช้ถมภายในเหมืองแม่เมาะ การศึกษาถึงวิธีการเพิ่มคุณสมบัติของกำลังรับแรงอัด และกำลังรับแรงเฉือนของดินโดยใช้วัสดุที่เป็นผลพลอยได้ที่มาจากการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ คือ เถ้าลอย และเอฟจีดียิปซัมผสมกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภทที่ 1 เพื่อใช้เป็นสารปรับปรุงคุณสมบัติของดินที่จะใช้ถมภายในเหมืองให้มีความแข็งแรงมากขึ้น เนื่องจากโรงจักรไฟฟ้าแม่เมาะจังหวัดลำปางต้องการขุดถ่านหินลิกไนต์มาใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่บริเวณที่จะทำการขุดนั้นจะเกิดการวิบัติของหน้าดินขณะทำการขุดได้ จึงต้องมีการปรับปรุงความลาดชันบริเวณที่จะทำการขุดเสียก่อน เพื่อป้องกันการวิบัติของหน้าดิน

วิธีการปรับปรุงความลาดชันมีอยู่หลายวิธี  ซึ่งวิธีการที่จะนำมาใช้คือวิธีการปรับปรุงความลาดชันโดยวิธีการถมด้วยวัสดุที่มีอยู่คือ  Shale และ Clay stone บริเวณที่จะทำการถม คือ บริเวณที่ขุดถ่ายหินออกแล้ว ซึ่งจะทำการขุดให้เป็นอาร์ชแล้วถมให้ลาดลงมา  เป็นชั้นๆ และวิธีการปรับปรุงความลาดชันนี้โดยปกติจะต้องใช้ความลาดชันอย่างน้อย 1 : 3 แต่เนื่องจากในบริเวณที่จะทำการปรับความลาดชันมีพื้นที่ทางแนวราบจำกัด จึงไม่สามารถทำการถมให้มีความลาดชันอย่างน้อย 1 : 3ได้ จึงต้องเปลี่ยนมาใช้ความลาดชันที่มากขึ้น (ประมาณ 1 : 1) ซึ่งมีความเหมาะสมกับพื้นที่ที่จะทำการปรับความลาดชัน  ทั้งนี้ จะต้องมีการปรับปรุงคุณสมบัติของดินที่จะนำมาถม เพื่อให้สามารถรับกำลังอัดและกำลังเฉือนได้ดีขึ้น โดยใช้กากยิปซัมและเถ้าลอยมาเป็นวัสดุเชื่อมประสานในมวลดินที่ใช้ถม

จากการทดสอบจะเห็นได้ว่าดินที่มีการปรับปรุงคุณสมบัติด้วยสารปรับปรุงคุณสมบัติโดยวิธีผสมรวมและวิธี Grout นั้น การผสมโดยวิธีผสมรวมนั้นจะให้ค่ากำลังอัดที่สูงกว่าวิธีการผสมโดยวิธี Grout ซึ่งมีปัจจัยหลายประการทีมีผลต่อการทดลองนี้ ผู้อ่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากรายงานเล่มนี้