โครงการนี้เป็นการศึกษาต่อเนื่อง จากโครงการ “พฤติกรรมขับขี่ฝ่าสัญญาณไฟจราจร และไม่สวมหมวกนิรภัยที่ทางแยกเมืองเชียงใหม่ภายใต้การรณรงค์ความปลอดภัยจราจร” ของสำนักงานป้องกันอุบัติภัยจังหวัดเชียงใหม่ ปี พศ.2553 โดยสำนักงานฯ ได้จัดให้มีการรณรงค์ให้ผู้ขับขี่จักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย และผู้ขับขี่ไม่ฝ่าสัญญาณไฟ จากการสนับสนุนโดยสำนัก งานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.)โดยทำการศึกษาในระหว่างเดือน มกราคม –พฤษภาคม 2553
การศึกษาในโครงการนี้ได้ทำการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อติดตามผลพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ขับขี่หลังจากที่การรณรงค์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว 2-3 เดือน โดยได้สำรวจข้อมูลในเดือน มิถุนายน และ กรกฎาคม 2553 และวิเคราะห์ผลในทางสถิติต่อเนื่องจากโครงการที่ผ่านมา ในการศึกษาโครงงานนี้ได้วิเคราะห์เปรียบเทียบผลต่อเนื่องโดยการเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์ประสิทธิภาพจากค่าเฉลี่ยของประชากร(Hypothesis Testing on Equality of Two Mean)และเพิ่มการวิเคราะห์ทางสถิติโดยวิธี Pair-t-test เพื่อเปรียบเทียบผลของการทดสอบทางสถิติทั้ง 2 วิธี
จากข้อมูลการสำรวจพบว่าอัตราผู้ขับขี่รถยนต์มีการฝ่าฝืนสัญญาณไฟมากกว่ารถจักรยานยนต์ โดยอัตราผู้ขับขี่รถยนต์ฝ่าสัญญาณไฟประมาน 3 – 7% ของผู้ขับขี่รถยนต์ทั้งหมด ในขณะที่รถจักรยานยนต์พบว่ามีอัตราฝ่าสัญญาณไฟประมาน 2-5% ของผู้ขับขี่จักรยานยนต์ทั้งหมด และอัตราการฝ่าฝืนการสวมหมวกนิรภัยก่อนการรณรงค์ และหลังการรณรงค์มีค่าเท่ากับ 19% และ 15%
การวิเคราะห์ทางสถิติพบว่า การรณรงค์เรื่องการสวมหมวกนิรภัยสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ผู้ขับขี่สวมหมวกมากขึ้น อย่างมีนัยสำคัญที่ความเชื่อมั่น 95% เทียบกับช่วงก่อนรณรงค์ และผู้ไม่สวมหมวกในเพศชายมีมากกว่าเพศหญิงประมาน 2-3 เท่า ส่วนการรณรงค์ในส่วนของการฝ่าฝืนสัญญาณไฟ ไม่ปรากฎว่ามีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น แบบมีนัยสำคัญที่ค่าความเชื่อมั่น 95%