โครงการนี้เป็นการวิเคราะห์สภาพภัยแล้งสำหรับพื้นที่จังหวัดน่าน ในช่วงเวลาต่างๆ และในพื้นที่ต่างๆ โดยใช้ดัชนีชี้วัดความแห้งแล้ง Standardized Precipitation Index (SPI)ในคาบ 30 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977-2007 โดยใช้ข้อมูลของสถานีวัดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่จังหวัดน่าน วิเคราะห์ในช่วงเวลาต่างๆ และในพื้นที่ต่างๆ เพื่อศึกษาดูว่าดัชนีนี้มีความเหมาะสมเพียงใดที่จะนำมาใช้วิเคราะห์สภาพภัยแล้ง ในการศึกษาครั้งนี้ ได้มีการนำดัชนีชี้วัดความแห้งแล้ง Standardized Precipitation Index (SPI)มาใช้วิเคราะห์ พบว่าดัชนี SPI6 ในคาบเวลา 10 ปี ของเดือนมีนาคม และกันยายน ตั้งแต่ปี 1998 ถึง 2007 ของสถานี 28013 อำเภอเมือง สถานี 28022 อำเภอเวียงสา และสถานี 28142 อากาศเกษตรน่าน มีความสอดคล้องกับปริมาณฝนรวมในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนผลการวิเคราะห์ค่าดัชนี SPI1 SPI3 และSPI6 ของเดือนสิงหาคม ปี 2006 ซึ่งเป็นปีที่เกิดน้ำท่วมหนักในจังหวัดน่าน เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลปริมาณฝนจะพบว่าค่า SPI1 มีแนวโน้มสอดคล้องกับข้อมูลปริมาณน้ำฝน ส่วนค่าดัชนี SPI3 และ SPI6 ที่ได้ไม่สอดคล้องกันกับข้อมูลปริมาณฝนและสภาพความจริงที่เกิดน้ำท่วม อาจเนื่องจากดัชนี SPI ใช้เพียงข้อมูลปริมาณฝนเฉพาะพื้นที่ที่พิจารณามาวิเคราะห์ ไม่ได้ใช้ข้อมูลน้ำท่ามาร่วมวิเคราะห์ด้วย ซึ่งน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากฝนที่ตกหนักทางตอนบนเหนือพื้นที่ที่พิจารณาทำให้น้ำท่าไหลลงมาทางพื้นที่ตอนล่างรวมกันจนเกิดน้ำท่วมได้ จะเห็นว่าดัชนีชี้วัดภัยแล้ง Standardized Precipitation Index (SPI)ไม่ใช่ดัชนีที่จะใช้บอกลักษณะของภัยแล้งที่ดี แต่สามารถใช้ในการอธิบายปริมาณน้ำฝนเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ผ่านมาได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะใช้ดัชนีชี้วัดภัยแล้ง ควรใช้ดัชนีชี้วัดสภาวะภัยแล้งอื่นที่ใช้ปัจจัยอื่นเข้ามาร่วมวิเคราะห์เปรียบเทียบด้วย น่าจะมีความเหมาะสมกว่าใช้ SPI index มาทำการวิเคราะห์ ซึ่งจะทำให้ผลที่ได้ออกมาสามารถอธิบายลักษณะภัยแล้งได้ดีกว่า