Civil Engineering CMU

แนวทางการพัฒนาศูนย์กลางโลจิสติกส์หลายรูปแบบของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน กลุ่มที่ 1

Development of Multimodal Logistics Hub for Upper North Provinces Group 1
ชื่อผู้แต่ง: 
นาย รวีโรจน์ ลีลาสุขเสรี
ชื่อผู้แต่ง: 
นาย วชิรพงศ์ ธีรสวัสดิ์
อาจารย์ที่ปรึกษา: 
อ. ชัยธวัช เสาวพนธ์
ประเภทงานวิจัย: 
โครงงานทางวิศวกรรมศาสตร์
สาขา: 
วิศวกรรมขนส่ง
ปีการศึกษา: 
2553
บทคัดย่อ: 

โครงงานวิจัยฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อทบทวนและวิเคราะห์ยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ ตลอดจนแผนงานโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือตอนบนกลุ่มที่ 1 (จังหวัดเชียงใหม่ – ลำพูน – แม่ฮ่องสอน) เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาศูนย์กลางโลจิสติกส์หลายรูปแบบ เพื่อลดต้นทุนด้านการขนส่งของกลุ่มจังหวัด

ผลการศึกษาที่สำคัญที่ได้รายงานฉบับนี้มีหลายประเด็น พอสรุปได้ดังนี้ การขนส่งสินค้าของประเทศไทยสามารถจำแนกการขนส่งได้เป็น การขนส่งทางถนน ทางราง ทางเรือ และทางอากาศ แต่สัดส่วนการขนส่งในรูปแบบต่างๆ มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยเป็นการขนส่งทางถนนถึงร้อยละ 83.8 การขนส่งทางเรือภายในประเทศซึ่งเป็นการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำที่สุด แต่มีการใช้เพียงร้อยละ 14%ในขณะที่การขนส่งทางรางซึ่งเป็นการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกลับมีสัดส่วนการขนส่งเพียงร้อยละ 2.2 ทั้งนี้เนื่องจากการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 1-4 (ปี พ.ศ. 2506-2524) เน้นในการพัฒนาถนนมากกว่าการขนส่งประเภทอื่น ทำให้จำนวนถนนเพิ่มจาก 8,500ก.ม. ในปี 2504 เป็น 104,000 กม. ในปี พ.ศ. 2525 ในขณะที่ทางรถไฟมีระยะทาง 4,044 ก.ม. เมื่อสิ้นสุดสมัยรัชกาลที่ 8 (พ.ศ. 2489) และในสมัยรัชกาลที่ 9 เพิ่งจะเริ่มมีการขยายเส้นทางรถไฟ ในช่วงแผนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 5 เป็นต้นมาโดยมีการก่อสร้างรางคู่ และรางสาม และมีเส้นทางรถไฟสายฉะเชิงเทรา - ท่าเรือแหลมฉบัง - ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ - ท่าเรือมาบตาพุต ระยะทาง 73 ก.ม. เพิ่มขึ้นมาเพียงสายเดียว เท่านั้น

นโยบายในการส่งเสริมการขนส่งทางรางที่สำคัญๆ ในปัจจุบันได้แก่ การสร้างศูนย์บรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ICD) ลาดกระบัง เปิดใช้ในปี พ.ศ. 2539 เพื่อเป็นสถานีในการเป็นศูนย์กลาง (HUB) ในการรับตู้คอนเทนเนอร์เพื่อขนส่งไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งในปัจจุบันเป็นเส้นทางที่มีการขนส่งทางรางมากที่สุดในประเทศเมื่อเทียบกับเส้นทางอื่นๆ แต่ก็ยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายทำให้การขนส่งล่าช้า ไม่ตรงต่อเวลา อันเนื่องมาจาก หัวรถจักรไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ แคร่บรรทุกสินค้าไม่เพียงพอและไม่ทันสมัย นอกจากนี้ทางรถไฟเป็นรางเดี่ยวในบางช่วงทำให้ต้องรอสับหลีกเกิดความล่าช้าในการส่งสินค้า ในขณะนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังก่อสร้างเส้นทางรางคู่ จากฉะเชิงเทรา - ศรีราชา -  แหลมฉบัง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ.2555ซึ่งเมื่อก่อสร้างเสร็จจะช่วยทำให้สามารถขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มขึ้นได้อย่างมาก

การขนส่งข้าวทางรถไฟจากอยุธยามายังจังหวัดเชียงใหม่โดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์สามารถประหยัดค่าขนส่งเมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งโดยรถบรรทุกได้มากถึง 14,020 บาทต่อตู้ 20 ฟุตในขณะที่การขนส่งลำไยจากจังหวัดเชียงใหม่ไปท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังโดยทางรถไฟสามารถประหยัดค่าขนส่งได้ถึง 19,640 บาทต่อตู้40 ฟุตเมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งโดยรถบรรทุกดังนั้นถ้าหากสามารถส่งเสริมให้มีการขนส่งทางรถไฟให้มากขึ้น จะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน กลุ่มที่ 1 (เชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน) ได้เป็นอย่างมาก

การขนส่งทางรถไฟจากเชียงใหม่จะเป็นทางเลือกที่น่าใช้มากขึ้น เมื่อการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ สายฉะเชิงเทรา -ศรีราชา- แหลมฉบังแล้วเสร็จ และจะเหมาะสมที่สุดเมื่อการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ สายแก่งคอย - ฉะเชิงเทรา ซึ่งจะย่นระยะเวลาในการขนส่งจากภาคเหนือไปยังท่าเรือแหลฉบังได้อย่างมาก โครงการนี้ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดว่าน่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในราวปี พ.ศ. 2560

เมื่อมองดูในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน กลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าทางการเกษตร และแหล่งอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ การศึกษานี้ได้เสนอจุดที่น่าจะมีศูนย์กลางโลจิสติกส์หลายรูปแบบที่จังหวัดลำพูน โดยควรมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 67 ไร่ โดยมีสิ่งอำนวยสะดวกในศูนย์กลางโลจิสติกส์หลายรูปแบบนี้ ดังนี้อาคารคลังสินค้าเกษตรกรรม,อาคารคลังสินค้าอุตสาหกรรม, อาคารชานชลาสำหรับขนถ่ายสินค้า, ลานกองสินค้ากลางแจ้ง, และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ลานจอดรถ, ที่พัก และโรงอาหาร