จุดประสงค์ของงานวิจัยนี้ คือ การศึกษาความเป็นไปได้ในการนำ FGD-Gypsum จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะมาแคลไซน์ที่อุณหภูมิ 160 °C ทำให้มีคุณสมบัติคล้ายกับปูนปลาสเตอร์ซึ่งจะนำมาใช้ในการผลิตเป็นส่วนผสมของปูนฉาบแทนการใช้ซีเมนต์ผสม โดยได้ทำการศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพของFGDยิปซัมปูนฉาบ ได้แก่ ระยะเวลาการก่อตัว ระยะการหดตัว ความหนาแน่น และค่าปริมาณการดูดซึม รวมทั้งศึกษาคุณสมบัติเชิงกลของ FGD ยิปซัมปูนฉาบ ได้แก่ กำลังรับแรงอัดนอกจากนี้ยังมีการใส่สารหน่วงปฏิกิริยาได้แก่ กรดมาลิก (Malic acid)ความเข้มข้น 0.03%wt เพื่อเพิ่มระยะเวลาในการก่อตัวให้นานขึ้น และเติมสารลดน้ำอย่างแรง Sulfonated Naphthalene Formaldehyde Condensatesเพื่อช่วยให้งานฉาบง่าย ผิวของงานฉาบเรียบสวย มีการศึกษาส่วนผสมโดยแบ่งออกเป็นสี่กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่ 1เป็นการผสมกันระหว่าง FGD-Gypsum, Sand, Malic acid,Waterกลุ่มที่ 2คือFGD-Gypsum, Sand, Malic acid,Water, Naphthaleneกลุ่มที่ 3คือ FGD-Gypsum, Malic acid, Waterและกลุ่มที่ 4คือ FGD-Gypsum , Malic acid,Water, Naphthalene
จากการทดสอบ ผลที่ใกล้เคียงกับมาตรฐานปูนฉาบมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างที่ 1คือ FGD-Gypsum, Sand, Malic acid0.03%, Waterอัตราส่วนระหว่าง FGD-Gypsum:Sandเท่ากับ 70% : 30%ค่า Consistency 60%โดยมวล ผลการทดสอบ ได้แก่ ระยะเวลาในการก่อตัว 36นาที ค่ากำลังรับแรงอัดจากการบ่ม 1วัน 3 วัน และ 7 วัน ได้ 164 ksc, 137ksc, และ 74 ksc ตามลำดับ ค่าความหนาแน่น 1.54 g/cm3 ค่าการดูดซึมน้ำ 20.1%และระยะหดตัว ที่ 7วันแรก 0.32 mm.
จากการศึกษาพบว่าระยะการก่อตัวจะขึ้นกับปริมาณน้ำ โดยแปรผันตรงกับน้ำ คือ ถ้าใส่น้ำปริมาณน้อยระยะการก่อตัวก็จะน้อย ถ้าใส่น้ำปริมาณมากระยะเวลาการก่อตัวก็จะมาก ส่วนเรื่องกำลังรับแรงอัดจากการบ่มในน้ำทำให้ชิ้นตัวอย่างขยายตัวเกิดการหลุดร่อน ค่ากำลังที่ได้จึงลดลง ควรบ่มด้วยวิธีการอื่น ความหนาแน่นจะขึ้นกับความพรุนของชิ้นตัวอย่าง ในการเทใส่แบบและการใส่สารต่างๆเข้าไป ทำให้ปริมาณของฟองอากาศเพิ่มมากขึ้นความหนาแน่นจึงมีค่าลดลง ค่าการดูดซึมจะขึ้นกับ ปริมาณ เอฟจีดี ยิปซัม เพราะยิปซัมจะดูดน้ำทำให้แข็งตัวเร็ว หรืออาจกล่าวได้ว่า ค่าการดูดซึมจะแปรผันตรงกับปริมาณ เอฟจีดี ยิปซัม และระยะการหดตัวโดยทิ้งไว้ในอากาศ ทำให้น้ำระเหยเกิดการหดตัวขึ้น
จากการทดสอบ สรุปได้ว่าส่วนผสมในกลุ่มที่ 1 มีความเป็นไปได้ในการนำมาฉาบจริงที่สุด เพราะถึงแม้ค่าการทดสอบด้านสมบัติต่างๆ ยังไม่ถึงมาตรฐานปูนซีเมนต์ผสม แต่หากมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นโดยการใส่สารต่างๆก็อาจสามารถนำมาใช้จริงได้ อีกทั้งต้นทุนที่ใช้ในการผลิตก็น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับยิปซัมธรรมชาติ และซีเมนต์ผสมในท้องตลาด