การวิเคราะห์ความเสี่ยงในงานก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ผู้วิจัยทำการศึกษาโดยการสัมภาษณ์และใช้การตอบแบบสอบถามในเก็บข้อมูลความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยความเสี่ยงในงานก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่และแนวทางการจัดการความเสี่ยงเหล่านั้นของผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ จากโครงการทั้งสิ้น 8 โครงการ โดยเก็บข้อมูลจากผู้จัดการโครงการ วิศวกรโครงการ วิศวกรสนาม โฟร์แมน
ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้ทำการกำหนดปัจจัยความเสี่ยง ในการก่อสร้างออกเป็น 4กลุ่มปัจจัยหลักที่มีผลกระทบที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงการก่อสร้าง ได้แก่ 1) ด้านเทคนิคการก่อสร้าง 2) วัสดุในการก่อสร้าง 3) บุคลากร 4) เครื่องมือเครื่องจักร รวมทั้งสิ้น 29 ปัจจัยผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างอาคารก่อสร้างขนาดใหญ่ ทำการประเมินระดับโอกาสของความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและประเมินระดับผลกระทบของปัจจัยในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ตาม RatingScale แล้วนำมาวิเคราะห์หาระดับปัจจัยความเสี่ยง เพื่อหาลำดับความสำคัญของปัจจัยความเสี่ยงในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดแผนและมาตรการในการจัดการปัจจัยความเสี่ยงที่ได้จากการวิเคราะห์สูงสุด 10 อันดับแรก โดยให้ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง ในจังหวัดเชียงใหม่ เสนอมาตรการในการจัดการความเสี่ยง โดยความเสี่ยง 10 อันดับแรก จากการสำรวจได้แก่ (1) ความผันผวนของราคาเหล็ก (2) การขาดแคลนแรงงาน (3) แบบก่อสร้างมีรายละเอียดไม่ชัดเจนมีความคลาดเคลื่อน (4) สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินงาน (5) การหยุดงานในช่วงเทศกาลต่างๆ 6) ไม่สามารถสำเร็จตามแผนงานและรายละเอียด (7) เครื่องมือและเครื่องจักรกลชำรุดเสียหาย (8) การเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมแบบโครงสร้าง (9) ความผันผวนของราคาน้ำมัน (10) ส่งวัสดุก่อสร้างล่าช้า