Civil Engineering CMU

ปัญหาการเปลี่ยนแนวลำน้ำและน้ำเน่าเสียของคลองแม่ข่า

The Directional Change and Waste Water Problem in Mae Kha River
ชื่อผู้แต่ง: 
เทเวศ พงศ์พัฒนาวุฒิ
ชื่อผู้แต่ง: 
ฤทธิพล วงค์ปันง้าว
อาจารย์ที่ปรึกษา: 
อ. ชัยธวัช เสาวพนธ์
ประเภทงานวิจัย: 
โครงงานทางวิศวกรรมศาสตร์
สาขา: 
วิศวกรรมแหล่งน้ำ
ปีการศึกษา: 
2553
บทคัดย่อ: 

โครงงานศึกษาและวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาการเปลี่ยนแนวลำน้ำและปัญหาน้ำเน่าเสียของคลองแม่ข่าเพื่อหาสาเหตุและแนวทางการแก้ไข โดยในการศึกษานี้ได้ครอบคลุมประเด็นหลัก ๆ คือ ปัญหาปริมาณของน้ำที่ไหลเข้าคลองลดลง และปัญหาการรุกล้ำพื้นที่คลอง

การที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าคลองแม่ข่าลดลง มีสาเหตุเนื่องจาก ทางหลวงหมายเลข 11 (ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์สายเชียงใหม่ – ลำปาง) ที่กีดขวางลำน้ำธรรมชาติที่จะไหลลงคลองแม่ข่า คลองชลประทานของโครงการชลประทานแม่แตงที่ทำให้ห้วยแก้วและห้วยช้างเคี่ยนต้องไหลลอดคลองผ่านท่อไซฟ่อน และการแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองโดยการผันน้ำบางส่วนที่ไหลมาจากทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นต้นน้ำของคลองแม่ข่าให้ไหลลงคลองชลประทานโดยตรง และการรุกล้ำพื้นที่ คลองของชาวบ้าน จึงทำให้น้ำไม่สามารถไหลผ่านได้และเปลี่ยนทิศทางการไหล หรือเหือดแห้งหายไป  ส่วนปัญหาน้ำเน่าเสียของคลองนั้น ก็มีสาเหตุเนื่องมาจาก การที่ชาวบ้านที่ได้ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล และสารเคมี ลงในคลองจึงทำให้น้ำเน่าเสียมาเป็นเวลานาน ซึ่งหน่วยงานต่างๆและประชาชนชาวเชียงใหม่ได้พยายามหาวิธีแก้ไขปัญหามาหลายวิธีแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้น้ำในคลองแม่ข่ากลับมาใสสะอาดได้

ผลจากการลงสำรวจพื้นที่แนวลำน้ำโดยอ้างอิงจากโฉนดที่ดินได้พบว่ามีสิ่งปลูกสร้างที่ขวางทับลำน้ำ บริเวณสี่แยกรินคำถึงบริเวณธนาคารไทยพาณิชย์สาขาแพทยศาสตร์ และอีกเส้นทางหนึ่งคือ บริเวณทางหลวงหมายเลข 11 ใกล้สี่แยกรินคำถึงบริเวณถนนช้างเผือก ซอย 3ก็มีสิ่งปลูกสร้างที่ขวางทับลำน้ำเหมือนกัน เช่น วัดสันติธรรม เป็นต้น  รวมสิ่งปลูกสร้างที่ขวางทับลำน้ำ ทั้งสิ้น 49แห่ง

จากผลการศึกษา ผู้ศึกษาเห็นว่าควรรื้อถอนอาคารที่รุกล้ำลำน้ำทั้งหมด โดยเริ่มจากโรงแรมรินคำ และบ้านเรือนบริเวณถนนสันติรักษ์ที่เป็นสาเหตุหลักก่อน แล้วจึงรื้อถอนอาคารอื่นเป็นลำดับต่อไป  ผู้ศึกษาเห็นว่าควรให้ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ทำการปรึกษาเรื่องปัญหาการรุกล้ำที่สาธารณะกันก่อน แล้วนำผลสรุปไปแก้ปัญหาการรุกแนวคลองต่อไปในภายภาคหน้า ส่วนมาตรการบางอย่างที่มีประโยชน์ เช่น การดาดผิวคลอง ควรดาดให้ครบทั้งแนวลำน้ำ และให้ความรู้ในการดูแลรักษาคลองแก่ประชาชน ไม่ให้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงสู่คลอง พร้อมทั้งขอความร่วมมือในการเวนคืนที่ดิน ซึ่งการแก้ไขทั้งหมดนี้ต้องทำอย่างต่อเนื่องจึงจะประสบผลสำเร็จ

คำสำคัญ: