โครงงานศึกษาและวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อทบทวนและวิเคราะห์การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อหาแนวทางวิธีการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน จากการเพิ่มประสิทธิภาพชลประทาน โดยในการศึกษาได้มีการครอบคลุมประเด็นด้านการใช้น้ำเพื่อการปลูกข้าว เนื่องจากบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่ราบ เหมาะสมกับการปลูกข้าวเพราะฉะนั้น จึงมีความต้องการน้ำในพื้นที่เป็นจำนวนมากในแต่ละปีด้วยเหตุนี้ บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจึงมีปัญหาด้านการขาดแคลนน้ำอยู่เป็นประจำ
ผลการศึกษาพบว่าในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นลุ่มน้ำที่ได้น้ำต้นทุนมาจากบริเวณลุ่มน้ำทางภาคเหนือของประเทศ ได้แก่ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ซึ่งมารวมกันที่บริเวณปากน้ำโพ จังหวัด นครสวรรค์ และในการบริหารน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยานี้มีการพัฒนาลุ่มน้ำอยู่เรื่อยมา โดยได้มีโครงการต่างๆเกิดขึ้นมากทั้งโครงการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เพื่อส่งและบำรุงรักษาน้ำในพื้นที่ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าโครงการขนาดใหญ่นั้นมีผลต่อระบบชลประทานในพื้นที่มากที่สุด จึงมีการศึกษาและเจาะลึกโครงการดังกล่าว พบว่าในโครงการชลประทานขนาดใหญ่นั้น มีจำนวน 25 โครงการหลักๆ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานทั้งหมด 7.5 ล้านไร่
จากนโยบายจำกัดพื้นที่การเพาะปลูกข้าวในฤดูแล้งโดยเฉพาะเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำให้เกษตรกรเกิดความเดือดร้อน การที่ออกนโยบายดังกล่าวมีสาเหตุมาจากปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอต่อการปลูกข้าวในฤดูแล้งและเกษตรกรต้องการเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกข้าว ซึ่งในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำเต็มศักยภาพแล้ว ไม่สามารถขยายพื้นที่การเพาะปลูกได้ จึงจำเป็นต้องศึกษาการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน
ในการศึกษาการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนนั้นจะใช้วิธีการจัดการน้ำโดยยึดหลักเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก ซึ่งนำไปสู่การแปรรูปการจัดการน้ำ โดยแปรเปลี่ยนผู้ผูกขาดทรัพยากรน้ำจากมือของรัฐให้ไปอยู่ในมือของเอกชน เพราะฉะนั้นน้ำจะไม่เป็นของฟรีอีกต่อไป ผู้ใช้น้ำต้องเสียค่าน้ำ การจัดสรรน้ำจะอยู่กับผลตอบแทนที่ได้รับจากการใช้น้ำ ในการศึกษาครั้งนี้จะศึกษากลยุทธ์ในการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ 2 กลยุทธ์ คือ
กลยุทธ์การจัดการด้านอุปทานและกลยุทธ์การจัดการด้านอุปสงค์หรือการบริหารพัฒนาสิ่งก่อสร้างเดิมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลพบว่า กลยุทธ์การจัดการด้านอุปทาน คือ การพัฒนาแหล่งน้ำหรือหาแหล่งน้ำใหม่เพิ่มเติม โดยมีแนวคิดที่จะเพิ่มปริมาณน้ำอยู่ 2 วิธีคือ การสร้างเขื่อนและการผันน้ำ โครงการในปัจจุบันที่มีแนวคิดที่จะสร้างเป็นไปได้แค่โครงการเดียว คือ โครงการการอ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ ส่วนโครงการผันน้ำยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจจุบันมีการพัฒนาพื้นที่เต็มศักยภาพแล้ว แล้วการก่อสร้างในแต่ละครั้งนั้นต้องใช้งบประมาณที่มาก รวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายลง จึงทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นมาก จากปัญหาดังกล่าวกลยุทธ์การจัดการด้านอุปสงค์และการบริหารพัฒนาสิ่งก่อสร้างเดิมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจึงเป็นวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดในขนาดนี้
จากผลการวิเคราะห์พบว่าประสิทธิภาพชลประทานในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ยังมีประสิทธิภาพที่น้อยกว่าเกณฑ์ จึงต้องมีการหาแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพชลประทานในพื้นที่ ในการศึกษาครั้งนี้มีทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพชลประทานส่งน้ำ การดาดคลองด้วยคอนกรีต หรือจะเป็นการพัฒนาประตูระบายน้ำเพื่อเก็บกักและระบายน้ำได้ตามความเหมาะสมของแต่ละฤดูกาล นอกจากนี้ยังมีการศึกษาระบบชลประทานระดับไร่นา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของพื้นที่รับน้ำ โดยเพิ่มประสิทธิภาพแต่ละโครงการให้อยู่ระหว่าง 70-80 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มประสิทธิภาพ 80เปอร์เซ็นต์ในฤดูแล้งเท่ากับ 475.2ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มประสิทธิภาพ 70เปอร์เซ็นต์ในฤดูฝนเท่ากับ 1,100.40 ล้าน ลบ.ม.