โครงงานวิจัยนี้เป็นการศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้งานสัญญาณไฟทางข้ามในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ในจุดต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นข้อเสนอแนะในการเพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกแก่ผู้ใช้งานต่อไป
โดยได้ทำการคัดเลือกจุดที่จะทำการเก็บข้อมูลโดยวิธีการสุ่มเป็นจำนวน 6 จุด จากทฤษฎี และหลักการในการเลือกสุ่มตัวอย่างมาศึกษา โดยสุ่มตัวอย่างจากแต่ละกลุ่มย่อยทั้ง 4กลุ่ม และคิดเป็นร้อยละ 10 ของแต่ละกลุ่มสัญญาณไฟทางข้ามในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อนำมาศึกษา แบ่งทำการสำรวจข้อมูลออกเป็น2 ส่วนคือ ส่วนที่หนึ่ง ทำการเก็บข้อมูลในเรื่องของจำนวนคนเดินเท้าข้ามสัญญาณไฟทางข้ามและวัดปริมาณการจราจร ตามช่วงวันเวลาที่กำหนดไว้ในแต่ละสถานที่ที่ได้ทำการสุ่มตัวอย่างออกมา เมื่อได้จำนวนคนเดินเท้าข้ามและปริมาณจราจรในแต่ละช่วงเวลาแล้ว ทำการพลอตกราฟความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนคนเดินเท้าข้ามกับช่วงเวลา และกราฟความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณจราจรกับช่วงเวลา ตามลำดับ ส่วนที่สอง เลือกช่วงที่ปริมาณจราจรมากที่สุดและน้อยที่สุดในแต่ละสถานที่มาศึกษาในรายละเอียด โดยการวัดความเร็วของคนเดินเท้าข้ามสัญญาณไฟทางข้าม และวัดเวลาเริ่มต้นในการข้าม( Start – Up Time)ของคนเดินเท้าก่อนตัดสินใจข้ามสัญญาณไฟทางข้าม เพื่อนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ใช้งานสัญญาณไฟทางข้ามในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
จากข้อมูลที่ได้ทำการศึกษาสามารถนำมาวิเคราะห์แยกเป็นส่วนๆได้ดังนี้ ในส่วนของจำนวนผู้ใช้งานสัญญาณไฟทางข้าม ในแต่ละจุดมีจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมดในแต่ละช่วงเวลารวมถึงสัดส่วนคนเดินเท้าข้ามในแต่ละวัยที่แตกต่างกันทั้งนี้ขึ้นกับสถานที่ตั้ง ดังเช่น บริเวณสถานศึกษาจะมีสัดส่วนของวัยเด็กที่มากกว่าวัยอื่นๆ และช่วงเวลาในการข้ามก็จะมากเฉพาะช่วงเช้ากับช่วงเย็น บริเวณโรงพยาบาล บริเวณย่านธุรกิจการค้า จะมีจำนวนผู้ใช้งานสัญญาณไฟทางข้ามที่สม่ำเสมอในแต่ละช่วงเวลาและจะมีวัยผู้ใหญ่ที่มากกว่าวัยเด็ก และวัยแก่ บริเวณชุมชนจะมีผู้ใช้งานที่น้อยกว่าบริเวณอื่น และจากบริเวณทั้ง 4กลุ่ม จะมีสัดส่วนวัยแก่ที่น้อยในทุกๆจุด ในส่วนของการศึกษาอัตราเร็วของคนเดินเท้าข้ามสัญญาณไฟทางข้ามนั้น จากการศึกษาในแต่ละหัวข้อ ได้แก่ ความเร็วกับช่วงอายุของคนเดินเท้าข้ามสัญญาณไฟทางข้ามความเร็วกับเพศของคนเดินเท้าข้ามสัญญาณไฟทางข้ามความเร็วของผู้ใช้ทางข้ามทั้งหมดในแต่ละจุดที่ทำการศึกษาได้ค่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 15สำหรับใช้ในการออกแบบ ส่วนใหญ่มีความใกล้เคียงกันและอยู่ที่ค่าประมาณ 1.0 m/s ซึ่งมีค่าแตกต่างจากทฤษฎีที่ส่วนมากจะกำหนดให้เท่ากับ 1.2 m/s ฉะนั้นความเร็วที่ใช้ในการออกแบบสัญญาณไฟทางข้ามในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ จะมีความเร็วที่ช้ากว่าความเร็วของทฤษฎี และในส่วนของเวลาเริ่มต้นในการข้ามสัญญาณไฟทางข้าม ( Start – Up Time )จะพบว่าในช่วงที่มีปริมาณจราจรมากจะมีค่าสูงกว่าปริมาณจราจรน้อย ในการออกแบบจะใช้ค่าที่มากกว่าเพื่อความปลอดภัย