โครงงานนี้เป็นการทดสอบโครงสร้างระบบคาน-เสาที่จำลองระบบโครงเฟรมอาคารโรงเรียนชั้นที่สอง เนื่องจากอาคารโรงเรียนได้ออกแบบและก่อสร้างก่อนที่กฎหมายจะกำหนดให้รับแรงจากแผ่นดินไหว โครงงานนี้ได้จำลองขนาดหน้าตัดของคาน-เสาเท่ากับครึ่งหนึ่งของอาคารจริงจำนวนสองตัวอย่าง โดยที่คานมีขนาดหน้าตัด กว้าง 0.15 m สูง 0.40 m ยาว 1.0 m สำหรับเสามีขนาดหน้าตัดกว้าง 0.15 m ยาว 0.20 m สูง 1.8 mในส่วนของตัวอย่างที่สองได้ทำการเสริมกำลังของเสาโดยการเสริมเหล็กกล่องขนาดหน้าตัด กว้าง 0.125 m ยาว 0.125 mหนา 0.032 m เข้าไปที่บริเวณด้านหลังของเสาโดยสกัดคอนกรีตบริเวณดังกล่าวออกและดัดเหล็กเสริมของคานมาเชื่อมติดกับเหล็กกล่อง ซึ่งปลายทั้งสองด้านของเหล็กกล่องจะเชื่อมยึดกับแผ่นเหล็กที่ติดกับเสาอีกที การทดสอบตัวอย่างให้เสมือนอาคารรับแรงแผ่นดินไหว การทดสอบจุดต่อคาน-เสาจะกระทำโดยการบังคับให้ปลายคานเกิดการเคลื่อนที่ในแนวดิ่งแบบสลับทิศทาง (cyclic loading, displacement control) ด้วยการผลักปลายคานด้วยแม่แรงไฮดรอลิคส์ ตามวิธีการทดสอบที่แนะนำโดย ACI T1.1-01 (ACI 2001)พร้อมกับวัดการตอบสนองของตัวอย่างจนกระทั่งตัวอย่างเกิดการวิบัติ
จากการทดสอบพบว่าในด้านกำลังตัวอย่างที่เสริมกำลังสามารถรับแรงได้มากกว่าตัวอย่างที่ไม่ได้เสริมกำลัง 65%ในด้านความแข็งแรงของจุดต่อ (stiffness) ตัวอย่างที่เสริมกำลังมีความแข็งแรงมากกว่า ส่วนการเปลี่ยนรูปเฉือนเมื่อนำผลการทดสอบมาเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นได้ว่าตัวอย่างที่เสริมกำลังสามารถรับแรงเฉือนได้มากกว่า และสำหรับรูปแบบการวิบัติพบว่าตัวอย่างที่ไม่เสริมกำลังจะมีการวิบัติที่เสาด้านหลังของจุดต่อเนื่องจากเหล็กเสริมในคานได้ดันคอนกรีตบริเวณนี้ออก ส่วนตัวอย่างที่เสริมกำลังเกิดการวิบัติที่เสาบริเวณจุดรองรับด้านล่างเนื่องจากแรงดึง
สำหรับการต้านทานโมเมนต์ดัดของเสาเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วตัวอย่างทดสอบที่ทำการเสริมกำลังสามารถต้านทานโมเมนต์ดัดได้มากกว่า จากการทดสอบจะเห็นได้ว่าการเสริมเหล็กเข้าไปที่เสาจะทำให้จุดต่อคานและเสาบริเวณดังกล่าวมีเสถียรภาพในการรับแรงมากยิ่งขึ้น