โครงงานนี้ทำการวิเคราะห์ภาวะภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยทำการเก็บข้อมูลปริมาณน้ำฝนรายวันในพื้นที่จังหวัดน่าน ทั้งหมด 12 สถานี ในการวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณน้ำฝนรายวันได้ใช้วิธีการของ ( Consecutive Dry Days , CDD ) คือการวิเคราะห์จำนวนวันที่มีปริมาณน้ำฝนรายวันที่ตกน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1มิลลิเมตรติดต่อกันยาวนานที่สุด โดยจะหาออกมาในรูปความสัมพันธ์ของ CDDกับจำนวนปีนั้นๆ การเกิดภาวะแล้งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับการเกษตรโดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูฝน สำหรับจังหวัดน่านซึ่งประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ภาวะแล้งจะส่งผลให้พื้นดินขาดความชุ่มชื้น พืชขาดน้ำ พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพต่ำ รวมถึงปริมาณผลผลิตลดลง สำหรับการวิเคราะห์จำนวนวันของฝนทิ้งช่วงในจังหวัดน่านในช่วงต้นฤดูฝนมักเกิดระหว่างวันที่ 13มิ.ย -23 มิ.ย ซึ่งมีฝนทิ้งช่วงทั้งหมด 11วัน เป็นช่วงที่ต้องวางแผนการเพาะปลูกพืชให้เหมาะสมไม่ให้ช่วงที่พืชเจริญเติบโตเต็มที่ตรงกับในช่วงเวลาดังกล่าว หรือต้องเลือกชนิดของที่สามารถทนต่อภาวะแล้งได้ นอกจากนี้ยังพบว่า ในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่างในจังหวัดน่าน การเกิดภาวะแล้งมีแนวโน้มจากเหนือลงใต้ ในขณะที่พื้นที่อื่นไม่มีแนวโน้มของภาวะแล้งที่ชัดเจน