งานโครงงานนี้เป็นการศึกษาผลของการพัฒนากลไกที่สะอาดด้านการจราจรและขนส่งเพื่อลดปัญหาโลกร้อน (Global warming) โดยพิจารณาเฉพาะการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ถือเป็นสาเหตุหลักของการเพิ่มอุณหภูมิภูมิอากาศ ในการศึกษาพิจารณาจากขอบเขตการปล่อย Co2 เนื่องจากการจราจรในพื้นที่เขตพัฒนาเมืองเชียงใหม่ (เขตผังเมืองรวมเชียงใหม่) โดยคาดคะเนสำหรับปีปัจจุบัน (2555) ปี 2560, ปี 2565, ปี 2570และ ปี 2575 โดยจำลองแบบ (Scenarios) ของการมีระบบโดยสารสาธารณะและมีแบบจำลองผู้ใช้แบบสัดส่วน (เปอร์เซ็นต์ต่างๆของการเดินทาง) เทียบกับกรณี (Base line)ที่ไม่มีระบบ
ปริมาณการจราจรในโครงข่ายและความเร็วได้จากแบบจำลอง Traffic Assignment โดยใช้ตาราง O.D. ปีปัจจุบัน (2555) จากการคาดคะเนที่เทียบเคียง (Calibrate) จากปริมาณการจราจรที่สำรวจในจุดต่างๆ สำหรับปริมาณและความเร็วในอนาคตหาจากค่าสมมุติของการเพิ่มความต้องการเดินทางแบบปกติโดยอัตราการเพิ่ม 4% ต่อปี
ผลจากการศึกษาพบว่าในกรณี Base line มีการปล่อย Co2 จากการจราจรในพื้นที่เท่ากับ 3.652 เมกกะตัน (ปีปัจจุบัน 2555), 4.469 เมกกะตัน (ปี 2560), 5.501 เมกกะตัน (ปี 2565), 6.847 เมกกะตัน (ปี 2570) และ 8.611 เมกกะตัน (ปี 2575) และถ้ามีการพัฒนารถโดยสารสาธารณะที่สามารถดึงดูดการเดินทางเท่ากับ 10% (ปี 2555), 20% (ปี 2560), 20% (ปี 2565), 30% (ปี 2570) และ 30% (ปี 2575) จะสามารถลดปริมาณ Co2 ได้เท่ากับ 8.926%, 15.328%, 15.252%, 27.019% และ 4.819% ตามลำดับ
สำหรับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการเดินทางพบว่าปริมาณรวม (เบนซินและดีเซล) เท่ากับ 2184.7 ล้านลิตร, 2635.1 ล้านลิตร, 3202.5 ล้านลิตร, 3936.7 ล้านลิตรและ 4896.1 ล้านลิตรในปี 2555,2560,2565,2570 และ2575 ตามลำดับ (คิดเป็นเงินจากลิตรละ 30 บาทเท่ากับ 65,541 ล้านบาท, 79,053 ล้านบาท, 96,075 ล้านบาท, 118,101 ล้านบาทและ 146,883 ล้านบาทในปี 2555,2560,2565,2570 และ2575ตามลำดับ) ถ้ามีระบบโดยสารสาธารณะจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้เท่ากับ 5,112 ล้านบาท, 10,689 ล้านบาท, 13,092 ล้านบาท, 28,899 ล้านบาทและ 2,859 ล้านบาทในปี 2555,2560,2565,2570 และ2575ตามลำดับ