พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก (Reinforced Concrete Slab) เป็นโครงสร้างที่ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักบรรทุกต่างๆ ก่อนที่จะส่งถ่ายน้ำหนักบรรทุกเหล่านั้นไปยังคานและเสาต่อไป ซึ่งโครงสร้างของพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กแต่ละประเภทนั้นจะมีคุณลักษณะเฉพาะตัว ดังนั้นในการเลือกใช้งานพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ก็จะต้องพิจารณาให้มีความเหมาะสมกับลักษณะการใช้งาน และลักษณะขององค์ประกอบอื่นๆ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความแข็งแรง ประหยัด สวยงาม และสามารถตอบสนองความต้องการในการใช้งานที่เหมาะสม พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กนั้นสามารถแบ่งออกได้หลายประเภท ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานและขั้นตอนการทำงาน เช่น พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กวางบนดิน พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อในที่แบบมีคานรองรับ พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรงหล่อในที่ และพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรงสำเร็จรูป
ลักษณะโครงสร้างของบันไดก็เปรียบเสมือนพื้นเสริมเหล็กทางเดียวที่มีช่วงยาวมาก และวางพาดทางเอียงจากพื้นชั้นล่างไปสู่พื้นชั้นบนวัสดุที่ใช้ทำเป็นบันไดอาจเป็นบันไดไม้ บันไดเหล็ก และบันไดคอนกรีตเสริมเหล็ก รูปแบบของบันไดมีอยู่หลายลักษณะขึ้นอยู่กับการออกแบบของสถาปนิกเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการใช้สอย มีความปลอดภัยขณะใช้งาน การออกแบบจะคล้ายกับพื้น โดยใช้มาตรฐาน ว.ส.ท. เป็นเกณฑ์
การคำนวณออกแบบเขื่อนกันดิน พิจารณาได้จากการกระทำของแรงต่างๆ ที่เขื่อนกันดินต้องรับหรือต้านทาน การคำนวณออกแบบขึ้นต้น จะประกอบด้วยการพิจารณาจัดขนาดและสัดส่วนของเขื่อนกันดินที่จะต้องใช้ก่อน แล้วตรวจสอบความเป็นไปได้ของส่วนโครงสร้างหรือโครงสร้างโดยรวมก่อนดำเนินการวิเคราะห์และออกแบบโดยละเอียดต่อไป
การคำนวณออกแบบกำแพงหรือผนังคอนกรีตเสริมเหล็กให้รับน้ำหนักบรรทุกเยื้องศูนย์หรือแรงด้านข้างใดๆ อายพิจารณาให้ส่วนโครงสร้างนั้นเสมือนเป็นเสาปลอกเดี่ยว โดยใช้อัตราส่วนของเหล็กเสริมในแนวตั้งไม่เกินกว่า 0.04อย่างไรก็ดี ในกรณีที่น้ำหนักกระทำเยื้องศูนย์แต่มีค่าไม่เกินหนึ่งในหากของความหนาของกำแพงจะถือว่าน้ำหนักนั้นกระทำร่วมศูนย์กับกำแพง การคำนวณออกแบบกำแพงรับน้ำหนักอาจใช้สูตรสำเร็จตามที่มาตรฐาน ACI หรือ ว.ส.ท. กำหนด
ในการออกแบบพื้นบันได และเขื่อนกันดิน กำแพงคอนกรีตเสริมเหล็ก นั้นจะมีการคำนวณโดยใช้ โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการคำนวณ คือ Microsoft Excel ซึ่งโปรแกรมที่นำมาคำนวณนั้นต้องใช้ได้จริง และสามารถตรวจสอบโดยการคำนวณมือได้