Civil Engineering CMU

การประเมินความสะดวกของทางเท้า ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Walkability Assesment in Chiang Mai University
ชื่อผู้แต่ง: 
นายธนเทพ ชัยบุญเรือง
ชื่อผู้แต่ง: 
นายธนากร ปัญญาจันทร์
อาจารย์ที่ปรึกษา: 
ผศ.ดร. ปรีดา พิชยาพันธ์
ประเภทงานวิจัย: 
โครงงานทางวิศวกรรมศาสตร์
สาขา: 
วิศวกรรมขนส่ง
ปีการศึกษา: 
2555
บทคัดย่อ: 

การบริการขนส่งมวลชนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นนักศึกษาส่วนหนึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้บริการขนส่งในรูปแบบอื่นๆ เช่น รถโดยสารสาธารณะ รถยนต์ส่วนตัว รถจักรยานยนต์ เป็นต้น แต่การใช้บริการขนส่งในรูปแบบที่กล่าวมานั้นยังส่งผลกระทบต่อปัญหาเรื่องที่จอดรถไม่เพียงพอสำหรับนักศึกษา เรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น การเดินจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการสัญจรไปตามสถานที่ต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โครงงานนี้จึงมุ่งเน้นศึกษาลักษณะทางกายภาพของทางเดินเท้าและการประเมินความสะดวกในการเดินโดยวิธี Walkability Index (WI) ของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียหรือ ADB โดยทำการศึกษาลักษณะโครงสร้างพื้นฐานเช่น ความกว้างของทางเดิน ความสูงของทางเดิน และสิ่งกีดขวางบนทางเดินเท้า ส่วนการประเมินความสะดวกในการเดินนั้นได้พิจารณาโดยการให้คะแนนตามเกณฑ์มาตรฐานที่ปรับปรุงแล้วของสถาบันธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย

จากการศึกษาพบว่า ลักษณะทางกายภาพของทางเดินเท้าที่ทำการศึกษา ได้แก่ ความกว้าง  ความสูง  และสิ่งกีดขวางที่อยู่บนทางเท้า  จากการวิเคราะห์พบว่า ความกว้างของทางเท้า อยู่ในช่วงระหว่าง 1.40 – 2.75 เมตร  และ ความสูงของทางเท้า อยู่ในช่วงระหว่าง 0.16 – 0.20 เมตร

ถนนภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีระดับคะแนนอยู่ในช่วงระหว่าง 60.00-82.00 คะแนน โดยที่คะแนนต่ำสุดที่ 61.25 คะแนน  และคะแนนสูงสุดที่ 82.00 คะแนน

การเดินทางในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สามารถปรับปรุงให้มีความสะดวก ปลอดภัย ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดีได้ควรจะส่งเสริมการสัญจรระยะสั้นด้วยการเดินเท้าโดยการปรับปรุงสภาพทางกายภาพของทางเดิน และการจัดการกับทางเดินอย่างเหมาะสม เช่น เคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางออกจากทางเท้า  หมั่นซ่อมบำรุงทางเท้าที่ชำรุด  จัดการให้การข้ามถนนสะดวก โดยการติดตั้งอุปกรณ์สัญญาณไฟกด หรือทำเครื่องหมายทางข้ามให้ชัดเจน