โครงการนี้เป็นการศึกษาและสำรวจศักยภาพแหล่งน้ำต้นทุนของคลองแม่ข่าตอนบนซึ่งเป็นการศึกษาหาปริมาณน้ำต้นทุนและแหล่งน้ำต้นทุนของคลองแม่ข่าในฤดูฝนและฤดูแล้ง เพื่อเป็นแนวทางแก้ปัญหาอุทกภัยในฤดูฝนและปัญหาการขาดแคลนปริมาณน้ำต้นทุนของคลองแม่ข่าเพื่อนำมาไล่น้ำเสียในฤดูแล้ง โดยการศึกษาได้แบ่งพื้นที่ศึกษาออกเป็นพื้นที่รับน้ำย่อยเป็น 5พื้นที่ แล้วศึกษาลักษณะทางกายภาพและหาค่าอัตราการไหลสูงสุดในฤดูฝนในแต่ละพื้นที่รับน้ำย่อยโดยวิธีเรชั่นแนล (Rational Method)ทำการสำรวจข้อมูลปริมาณน้ำในฤดูฝนและฤดูแล้งจากหน่วยงานราชการต่างๆและทำการวัดหาปริมาณน้ำในห้วยชะเยืองในฤดูแล้ง นอกจากนี้ยังศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนปริมาณน้ำต้นทุนของคลองแม่ข่าในฤดูแล้ง โดยจากการศึกษาพื้นที่รับน้ำหมายเลข 1 พบว่าในฤดูฝนมีปริมาณน้ำจากฝนที่ตกในพื้นที่ประมาณ 35.1 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีปริมาณน้ำจากคลองซอย 14L เฉลี่ย 17,280– 69,120ลบ.ม/วันในฤดูแล้งพบว่ามีปริมาณน้ำในลำห้วยชะเยืองเฉลี่ย 57,000 ลบ.ม/เดือน,พื้นที่รับน้ำหมายเลข 2 พบว่าในฤดูฝนมีปริมาณน้ำจากฝนที่ตกในพื้นที่ประมาณ 17.0 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปริมาณน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่จอก 300,000 ลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่หยวก 300,000 ลูกบาศก์เมตร ในฤดูแล้งพบว่ามีการกักเก็บน้ำไว้ในศูนย์ราชการฯต่าง ทำให้ไม่มีการปล่อยน้ำให้แก่คลองแม่ข่า, พื้นที่รับน้ำหมายเลข 3 พบว่าในฤดูฝนมีปริมาณน้ำจากฝนที่ตกในพื้นที่ประมาณ 19.0 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในฤดูแล้งไม่มีปริมาณน้ำ, พื้นที่รับน้ำหมายเลข 4 พบว่าในฤดูฝนมีปริมาณน้ำจากฝนที่ตกในพื้นที่ประมาณ 18.6 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในฤดูแล้งไม่มีปริมาณน้ำ, พื้นที่รับน้ำหมายเลข 5 พบว่าในฤดูฝนมีปริมาณน้ำจากฝนที่ตกในพื้นที่ประมาณ 22.7 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในฤดูแล้งไม่มีปริมาณน้ำ ซึ่งค่าอัตราการไหลสูงสุดในฤดูฝนในแต่ละพื้นที่รับน้ำย่อย สามารถใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบหน้าตัดที่เหมาะสมแก่คลองแม่ข่าได้ต่อไป