งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาถึงพฤติกรรมการรับแรงแผ่นดินไหวของเจดีย์ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้ทำการศึกษาเจดีย์พระธาตุดอยสุเทพ โดยวิเคราะห์ด้วยวิธีไฟไนต์อิลิเมนต์ที่จำลองด้วยชิ้นส่วน 3 มิติ ได้ทำการวิเคราะห์กับคลื่นแผ่นดินไหว 3 กลุ่ม จำนวน 20 คลื่น ได้แก่ 1. คลื่นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในระยะใกล้แบบมีทิศทางไปข้างหน้า 2. คลื่นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในระยะใกล้แบบพุ่ง 3. คลื่นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในระยะไกล โดยเริ่มต้นจากการสร้างแบบจำลองของพระธาตุดอยสุเทพ แล้วทำการค้นหาคลื่นทั้ง 3 กลุ่ม แล้วทำการปรับคลื่นให้เข้ากับขนาดความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ทำการวิเคราะห์ตาม มยผ 1320
ผลจากการวิเคราะห์คลื่นแผ่นดินไหวทั้ง 3 กลุ่ม พบว่าเจดีย์พระธาตุดอยสุเทพมีการเคลื่อนที่ในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน โดยเมื่อวิเคราะห์ค่าแรงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจะพบว่าไม่เกิดแรงดึงขึ้นเลย แสดงให้เห็นว่าเจดีย์ไม่เกิดการพลิกคว่ำ และจะมีการเคลื่อนที่มากที่บริเวณ ยอดเจดีย์และก้านฉัตร
เกิดหน่วยแรงอัดสูงสุด ในบริเวณ ฐานเขียง มีค่าเท่ากับ 2.15 เมกะปาสคาล และเกิดหน่วยแรงดึงสูงสุด ในบริเวณด้านนอกของฐานเขียงบริเวณติดกับฐานระฆัง มีค่าเท่ากับ 0.26 เมกะปาสคาล เมื่อเปรียบเทียบค่ากำลังอัดและกำลังดึงของวัสดุอิฐ เท่ากับ 2.68 เมกะปาสคาลและ 0.27 เมกะปาสคาล ตามลำดับ พบว่า ไม่เกิดความเสียหายเนื่องจาก กำลังอัดและกำลังดึงที่กระทำกับตัวเจดีย์ เนื่องจากกำลังอัดและดึงที่เกิดขึ้นน้อยกว่ากำลังอัดและกำลังดึงประลัย