Civil Engineering CMU

การศึกษาเปรียบเทียบวัสดุปรับสภาพดินและสารเคลือบผิวเพื่อปรับปรุง คุณสมบัติ ทางด้านความทนทานต่อการชะล้างด้วยน้ำและการดูดซึมน้ำให้กับผนังบ้านดิน

ชื่อผู้แต่ง: 
นายกรรณ หิรัญ
ชื่อผู้แต่ง: 
นายกิตติพศ สมบุญเพ็ญ
อาจารย์ที่ปรึกษา: 
รศ.ดร. ปิติวัฒน์ วัฒนชัย
ประเภทงานวิจัย: 
โครงงานทางวิศวกรรมศาสตร์
สาขา: 
วิศวกรรมโครงสร้าง
ปีการศึกษา: 
2555
บทคัดย่อ: 

 

ในปัจจุบันการก่อสร้างบ้านดินเริ่มเป็นสถาปัตยกรรมทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทย และวิธีที่นิยมใช้ในการก่อสร้าง คือ การก่อผนังด้วยก้อนอิฐดินดิบ แล้วฉาบทับด้วยดิน ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับสัดส่วนผสมของก้อนอิฐดินดิบเพื่อกำลังอัดตามแนวแกน แต่ปัญหาใหญ่อีกข้อคือ ผนังบ้านดินยังขาดความคงทนต่อการชะล้างด้วยน้ำ

งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของปริมาณวัสดุปรับสภาพที่มีต่อความทนทานต่อการชะล้างด้วยน้ำและการดูดซึมน้ำของผนังบ้านดินโดยใช้วัสดุปรับสภาพดิน 2 ชนิดคือ น้ำยางพาราข้น และโซเดียมซิลิเกต เพื่อเปรียบเทียบค่าความทนทานต่อการชะล้างด้วยน้ำและการดูดซึมน้ำของผนังบ้านดินโดยใช้ดินผสมทรายในอัตราส่วน 1:1ผสมน้ำยางพาราข้นร้อยละ 5,10,20 และ30 ตามลำดับ ผสมโซเดียมซิลิเกตร้อยละ 0.8,3, 7.6, 11.2 และ 15 ตามลำดับ ผสมน้ำยางพาราข้นร้อยละ 5 กับโซเดียมซิลิเกตร้อยละ 0.1,0.2, 0.4,0.8, 1.0, 1.5และ3.0 ตามลำดับ และผสมน้ำยางพาราข้นร้อยละ 10 กับโซเดียมซิลิเกตร้อยละ 0.5, 1.0, 3.0 และ 5.0 ตามลำดับ โดยก้อนตัวอย่างที่ขึ้นรูปเสร็จแล้วถูกนำมาทำให้แห้งด้วยการตากแดดเป็นเวลา 2 วัน และนำไปอบหลังจากตากแดดแล้วเป็นเวลา 3 วัน

จากผลการทดสอบ ความทนทานต่อการชะล้างด้วยน้ำ เมื่อเพิ่มน้ำยางพาราข้น จะเพิ่มค่าความทนทานต่อการชะล้างด้วยน้ำ แต่เมื่อเกินร้อยละ 20.0 ค่าความทนทานต่อการชะล้างด้วยน้ำจะลดลง เมื่อเพิ่มปริมาณโซเดียมซิลิเกตจะเพิ่มความทนทานต่อการชะล้างด้วยน้ำ อยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 0.8-5.0 แต่เมื่อเกินร้อยละ 5.0 ค่าความทนทานต่อการชะล้างด้วยน้ำจะลดลง และเมื่อมากกว่าร้อยละ 15 ค่าความทนทานต่อการชะล้างจะเพิ่มขึ้นอีก ในขณะที่ก้อนตัวอย่างผสมน้ำยางพาราข้นร้อยละ 5 และ 10 เมื่อเพิ่มส่วนผสมโซเดียมซิลิเกตร้อยละ 3 จะทนทานต่อการชะล้างด้วยน้ำดีที่สุดและจากการทดสอบความทนทานต่อการชะล้างด้วยน้ำ เมื่อนำก้อนตัวอย่างมาทาสารเคลือบผิวจะเพิ่มความคนทนทานต่อการชะล้างด้วยน้ำได้มากน้อยตามความทนทานต่อการชะล้างด้วยน้ำ

จากผลการทดสอบ ค่าการดูดซึมน้ำ ในการเพิ่มน้ำยางพาราข้นไม่ส่งผลอย่างชัดเจนในการดูดซึมน้ำ แต่เมื่อเพิ่มปริมาณโซเดียมซิลิเก ค่าการดูดซึมน้ำจะน้อยลง ในขณะที่ก้อนตัวอย่างผสมน้ำยางพาราข้นร้อยละ 5 และ 10 เมื่อเพิ่มส่วนผสมโซเดียมซิลิเกตร้อยละ 5.0 มีค่าการดูดซึมน้ำน้อยที่สุดและจากการทดสอบ ค่าการดูดซึมน้ำ เมื่อนำก้อนตัวอย่างมาทาสารเคลือบผิว ไม่ส่งผลในก้อนตัวอย่างที่ผสมน้ำยางพารา แต่มีผลชัดเจนกับก้อนตัวอย่างที่มีส่วนผสมของโซเดียมซิลิเกต