ในการศึกษาเรื่องการทำแบบจำลองคลื่นน้ำ เพื่อการวัดทางพลวัตของโครงสร้าง โดยเครื่องขับ เป็นโครงงานวิจัยต่อเนื่องจากการวัดการตอบสนองทางพลวัตของระบบจำลองโครงสร้างแกนเดียวโดยเครื่องขับลม ซึ่งผลจากการวิจัยเดิมได้ใช้ความถี่เป็นตัวควบคุมการเขย่าของโต๊ะเขย่า ทำให้การเคลื่อนที่ของกระบอกสูบมีระยะที่ไม่แน่นอน ทางผู้วิจัยจึงได้ทำการพัฒนาโปรแกรม Lab VIEW ที่ใช้ควบคุมโต๊ะเขย่า ให้สามารถกำหนดตำแหน่งเริ่มต้นการเขย่าและสั่งการเขย่าได้ โดยใช้ระยะทางการเคลื่อนที่ของ Slide Volume ควบคุมการเปิดปิดของสวิตส์สลับลม (Solinoid Valve) เพื่อให้โต๊ะเขย่าสามารถเคลื่อนที่ไปกลับได้ในระยะทางที่กำหนด อีกทั้งประยุกต์ใช้โต๊ะเขย่ามาเป็นเครื่องสร้างคลื่นน้ำจำลอง ทำการสร้างคลื่นน้ำจำลองให้มีความคล้ายคลึงกับคลื่นน้ำที่เกิดขึ้นจริงในธรรมชาติ โดยใช้หลักการ Similitude Law ย่อคลื่นของจริง ในอัตราส่วน 1:100ในการทดลองผู้วิจัยได้ใช้ความดันลม 4ระดับ คือ 2 , 3, 3.5 และ 4 บาร์ และกำหนดตำแหน่งเริ่มต้นการทดสอบไว้ที่ 3.5 , 4.5 และ 6.5 เซนติเมตรของความยาว Slide Volume อีกทั้งควบคุมระยะทางการเคลื่อนที่ของ กระบอกสูบด้วยช่วงความต่างศักย์ของ Slide Volume โดยใช้ช่วงความต่างศักย์ 0,0.3และ 0.5 volt รวมทั้งหมด 36การทดลอง โดยแต่ละการทดลองใช้ระยะเวลาในการเขย่า 30วินาที พร้อมทั้งทำการบันทึกวิดีโอ เพื่อศึกษาพฤติกรรมของคลื่นน้ำจำลองที่เกิดขึ้น โดยผู้วิจัยได้เลือกพิจารณาช่วง 3-6 วินาที เนื่องจากน้ำมีการไหลแบบสม่ำเสมอและไม่มีการสะท้อนกลับของคลื่น จากนั้นนำผลการทดลองมาวิเคราะห์หาแอมพลิจูดของคลื่นน้ำจำลอง ด้วยโปรแกรม Image Analysis และหาความถี่ของคลื่นน้ำจำลองด้วยวิธีFourier transform ซึ่งผลการทดสอบ พบว่าเครื่องสร้างคลื่นน้ำจำลอง สามารถสร้างคลื่นน้ำได้เสมือนจริง แต่ความสามารถของอุปกรณ์การทดสอบไม่สามารถสร้างคลื่นให้มีแอมพลิจูดและความถี่ที่ตรงกับคลื่นน้ำของจริงได้ จำเป็นต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงเครื่องสร้างคลื่นน้ำจำลองให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นเพื่อที่จะสามารถนำไปใช้ในการวัดทางพลวัตของโครงสร้างกลางทะเลต่อไป