โครงงานฉบับนี้มุ่งเน้นเพื่อศึกษาถึงความพึงพอใจของผู้ใช้ทางจักรยานในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ โดยทำการศึกษาถึงความพึงพอใจของผู้ใช้เส้นทางจักรยานและระดับการให้บริการของทางจักรยาน การดำเนินงานวิจัยประกอบด้วยการสำรวจข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างประชากรในเขตพื้นที่ศึกษา และการวิเคราะห์ระดับการให้บริการของเส้นทางจักรยาน เพื่อนำปัญหาหรือข้อบกพร่องในการใช้จักรยานมาทำการพัฒนาปรับปรุงระดับการให้บริการของเส้นทางในปัจจุบัน
จากการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างผู้ใช้จักรยานส่วนใหญ่มีความพึงพอใจมากที่สุดในเรื่องทัศนียภาพของเส้นทางจักรยาน และมีระดับความพึงพอใจน้อยที่สุดในเรื่องจำนวนเส้นทางจักรยานในปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพของถนนและทางจักรยานในปัจจุบันที่ได้ทำการสำรวจ พบว่าจากถนนที่ทำการสำรวจทั้งหมด 18 สาย มีถนนที่มีทางจักรยานต่อเนื่องตลอดเส้นทางอยู่ 5 สาย ถนนที่มีทางจักรยานไม่ต่อเนื่องตลอดเส้นทาง 1 สาย และถนนที่ไม่มีทางจักรยาน 12 สาย โดยทางจักรยานจะเป็นแบบใช้ร่วมกับกระแสจราจรเป็นหลัก เมื่อพิจารณาระดับความพึงพอใจจากความความพึงพอใจมากที่สุดเท่ากับ 5 ความพึงพอใจน้อยที่สุดเท่ากับ 1พบว่ากลุ่มตัวอย่างผู้ใช้มีระดับความพึงพอใจ อยู่ที่ 2.63หมายถึงกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้รู้สึกเฉยๆต่อสภาพเส้นทางจนถึงรู้สึกว่าเส้นทางนี้ไม่น่าใช้ ส่วนระดับการให้บริการพบว่าจากเส้นทางทั้งหมดที่ทำการศึกษามีเพียงเส้นทางเดียวที่มีระดับการให้บริการอยู่ในระดับ C หรือระดับที่ผู้ใช้จะเกิดความพึงพอใจในการใช้เส้นทางนั้นๆ
ผลจากการวิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพและระดับการให้บริการ เพื่อพัฒนาระดับการให้บริการปัจจัยที่มีผลกระทบสูงสุดคือ ปริมาณการจราจร การมีหรือไม่มีทางจักรยานในถนนสายนั้นและการจอดรถบริเวณข้างทาง ซึ่งถนนส่วนใหญ่ที่ไม่มีทางจักรยาน การเพิ่มทางจักรยานและการจำกัดการจอดรถจะส่งผลให้ระดับการให้บริการอยู่ในระดับ C หมายถึง ระดับความรู้สึกในการปั่นจักรยานร่วมกับถนนมีความสะดวกสบายปานกลางค่อนไปทางด้านมากหรือมีความเครียดค่อนข้างต่ำ มีความรู้สึกพึงพอใจต่อการใช้สภาพของทางจักรยานนั้นๆแต่ไม่มากนัก ส่วนในถนนที่มีปริมาณการจราจรมาก เช่น ถนนรอบคูเมืองด้านนอกถึงแม้จะลดปริมาณการจราจรลงเกิน 50% และเพิ่มทางจักรยานขนาด 2 เมตร ยังไม่สามารถเพิ่มระดับการให้บริการได้ จึงควรสร้างทางจักรยานในลักษณะที่แยกกับกระแสจราจร ในที่นี้สามารถทำได้โดยการปรับปรุงทางเท้าเพื่อใช้ร่วมกับทางจักรยาน