โครงงานการศึกษาการประยุกต์ใช้ Building Information Modeling (BIM) ในการประมาณราคาค่าก่อสร้าง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการทำงานของเทคโนโลยี BIM โดยการใช้โปรแกรม Autodesk Revit ซึ่งหลักการคือการสร้างแบบจำลอง โดยสร้างในลักษณะรูปแปลนพื้นแต่รูปด้านและรูป 3 มิติ จะเป็นไปตามแปลนพื้นโดยอัตโนมัติ พร้อมกับในแบบจำลองนั้น จะมีข้อมูลของวัสดุรวมอยู่ด้วย ซึ่งการทำงานทั้งหมดนั้นทำให้การเขียนแบบมีความสะดวกมากขึ้น ความผิดพลาดที่เกิดระหว่างการแก้ไขแบบลดลง และหมดปัญหาการทำงานซ้ำซ้อนไปหากเทียบกับการเขียนแบบโดย CAD แบบเดิม นั่นคือจะประหยัดเวลามากขึ้น
จากการศึกษาโดยทดลองใช้งานโปรแกรม Autodesk Revit และทำการประมาณปริมาณวัสดุ ได้แก่ จำนวนประตูหน้าต่าง, พื้นที่ของแต่ละห้อง, พื้นที่ผนังและพื้นที่หลังคา ด้วยโปรแกรม Autodesk Revit เทียบกับการคำนวณมือ พบปริมาณของวัสดุนั้นมีทั้งที่เท่ากันและไม่เท่ากันกัน และระยะเวลาที่ใช้ในการทำงานนั้นก็ไม่เท่ากันกันด้วย โดยปริมาณที่ได้เท่ากันคือปริมาณจากการนับประตูและหน้าต่าง ส่วนปริมาณที่ไม่เท่ากันคือส่วนของการคำนวณพื้นที่ทั้งหมด ในส่วนของพื้นนั้น ได้ปริมาณที่ต่างกันเพราะในโปรแกรมคำนวณที่ขอบของผนัง แต่การคำนวณมือนั้นคำนวณจากระยะกลางเสา ส่วนของผนังและหลังคาที่ได้ปริมาณต่างกันยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดจากการสร้างแบบจำลองผิดหรือไม่เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ หรือการคำนวณมือผิดเพราะต้องมีข้อมูลคำนวณมือมากกว่า 1 คน เพื่อนำข้อมูลมาเทียบกัน แต่ทั้งนี้ตัวแปรสำคัญในการคำนวณโดยใช้โปรแกรมคือการสร้างแบบจำลองให้ถูกต้อง ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญ อีกทั้งในเรื่องของเวลา การประมาณหาปริมาณวัสดุด้วยโปรแกรม Autodesk Revit นั้น ใช้เวลาน้อยกว่าการคำนวณมือ แต่จะใช้เวลามากกว่าเมื่อรวมในขั้นตอนการสร้างแบบจำลองด้วย ในการเรียนรู้โปรแกรมนี้ในช่วงแรกอาจเสียเวลามาก แต่หากใช้งานจนเกิดความชำนาญ จะสามารถใช้เวลาได้คุ้มค่ากว่าการคำนวณด้วยมือ