ในปัจจุบันแม้จะมีผู้ประกอบอาชีพวิศวกรโยธาเป็นจำนวนมาก แต่อัตราส่วนของวิศวกรโยธาชายและหญิงกลับแตกต่างกันมาก เนื่องด้วยขอบเขตที่จำกัดในหน้าที่การงานของวิศวกรหญิง การเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม และกำแพงทางด้านสังคมและวัฒนธรรมซึ่งส่งผลต่อโอกาสความก้าวหน้าของวิศวกรโยธาหญิง งานวิจัยครั้งนี้จัดทำเพื่อศึกษาบทบาทหน้าที่ที่เหมาะสมของวิศวกรโยธาหญิงรวมทั้งศึกษาปัญหาในการประกอบอาชีพของวิศวกรหญิง โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์วิศวกรโยธาจำนวน 10 คน แบ่งเป็นวิศวกรโยธาที่ประกอบอาชีพวิศวกรโยธาระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี จำนวน 4 คน คนละ 40 นาที และวิศวกรโยธาที่ประกอบอาชีพวิศวกรโยธามากกว่า 5 ปี จำนวน 6 คน คนละ 15-30 นาที รวมถึงแบบสอบถามจากนักศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จำนวน 69 คน
ผลการศึกษาพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยว่าวิศวกรโยธาหญิงมักมีข้อจำกัดในการทำงานโดยเฉพาะงานภาคสนามที่ต้องเดินทางและออกไปในพื้นที่ที่เสี่ยงอันตราย ความเห็นส่วนมากแนะนำว่าสายงานในด้านวิศวกรรมโยธาที่เหมาะสมกับวิศวกรโยธาหญิงคืองานออกแบบ งานเอกสาร งานบริหารควบคุมงานก่อสร้าง ซึ่งเป็นงานที่ผู้หญิงจะแสดงจุดเด่นของเพศหญิงได้มากกว่า คือทักษะในการเจรจาและสื่อสารที่ดี และความละเอียดรอบคอบในการทำงาน ซึ่งเกินกว่าครึ่งของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามนั้นเห็นด้วย ทั้งนี้วิศวกรโยธาหญิงสามารถทำงานภาคสนามได้เช่นกัน โดยต้องอาศัยความอดทนและความพยายาม รวมถึงการให้โอกาสในการทำงาน