หน่วยวิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Civil Engineering Department, Chiang Mai University, Natural Disasters Research Unit - CENDRU) มีวัตถุประสงค์ให้สนับสนุนการเรียนการสอน การทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ส่งเสริมการทำวิจัยกิจกรรมทางวิชาการของคณาจารย์ ในการบริหารงานหน่วยวิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติ ได้กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายไว้ดังนี้ (1) เพื่อสนับสนุนการเรียน การสอน และงานวิจัย ในสาขาต่างๆที่เกี่ยวข้อง (2) เพื่อพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติสำหรับชุมชน ท้องถิ่น และประเทศ (3) เพื่อเป็นหน่วยบริการวิชาการด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชุมชน , ท้องถิ่น , หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และ (4) เพื่อเป็นศูนย์วิชาการสำหรับพัฒนาบุคลากรด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ ในภาคเหนือ
หน่วยวิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติมีสำนักงานอยู่ที่ ตึกโรงประลองชลศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา โดยมี รศ. ชูโชค อายุพงศ์ เป็นหัวหน้าหน่วยวิจัย
เว็บไซต์: http://cendru.net/ หรือ http://cendru.eng.cmu.ac.th/
หน่วยวิจัยเทคโนโลยีการก่อสร้างและวิศวกรรมแบบยั่งยืน (Construction Technology and Sustainable Engineering Research Unit - CONTECH) มีเป้าหมายเพื่อที่จะสร้างผลงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการก่อสร้างในด้านวิศวกรรมโยธา วิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมเชิงบูรณาการ ให้แก่องค์กรทั้งในภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ได้ผลงานงานวิจัยในระดับภูมิภาค จนถึงระดับนานาชานติ รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ถ่ายทอดเทคโนโลยี และงานบริการทางวิชาการ แกชุมชนในท้องถิ่น และเพื่อพัฒนาบุคลากรในหน่วย บุคลากรในหน่วยวิจัยเทคโนโลยีการก่อสร้าง ประกอบไปด้วยที่ปรึกษาที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในแขนงต่างๆ และกลุ่มอาจารย์นักวิจัยรุ่นใหม่เป็นนักวิจัยหลัก
หน่วยวิจัยเทคโนโลยีการก่อสร้างและวิศวกรรมแบบยั่งยืนมีสำนักงานอยู่ที่ ตึกวิศวกรรมโครงสร้าง ภาควิชาวิศวกรรมโยธา โดยมี รศ.ดร. ชยานนท์ หรรษภิญโญ เป็นหัวหน้าหน่วยวิจัย
เว็บไซต์: http://contech.eng.cmu.ac.th/
ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิศวกรรมขนส่งและเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน (Excellence Center in Infrastructure Technology and Transportation Engineering - ExCITE) จัดตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ ให้บริการวิชาการ และคำปรึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและหน่วยงานในระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ในงานการศึกษาเกี่ยวกับการวางแผน การออกแบบ การบริหาร และการจัดการทางวิศวกรรมของระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่ง การบรรเทาและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากระบบโครงสร้างพื้นฐานและคมนาคมขนส่งและจราจรในรูปแบบต่าง ๆ การเพิ่มประสิทธิภาพและการประเมินผลการวางแผนออกแบบและการจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐานและคมนาคมขนส่ง การวิเคราะห์ผลกระทบทางผังเมือง การใช้ที่ดิน สิ่งแวดล้อม การใช้พลังงาน เศรษฐกิจและสังคม อันเนื่องจากระบบโครงสร้างพื้นฐานและคมนาคมขนส่ง การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่ง และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิศวกรรมขนส่งและเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน มีสำนักงานอยู่ที่ ตึกบัณฑิตศึกษาวิศวกรรมโยธา ภาควิชาวิศวกรรมโยธา โดยมี ผศ.ดร.ปรีดา พิชยาพันธ์ เป็นหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศ
ศูนย์วิจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวและเทคโนโลยีการขนส่ง (Green Infrastructure and Transportation Technology - GITT) จัดตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่งสีเขียวที่เหมาะสม โดยจะสร้างองค์ความรู้ด้านการวางแผนและจัดการโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ผ่านการวิจัยให้หน่วยงานในระดับชุมชนสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนต่อไป ศูนย์วิจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวและเทคโนโลยีการขนส่งมีสำนักงานอยู่ที่ ตึกบัณฑิตศึกษาวิศวกรรมโยธา ภาควิชาวิศวกรรมโยธา โดยมี ดร. นพดล กรประเสริฐ เป็นหัวหน้าศูนย์วิจัย
หน่วยวิจัยการขนส่งและถ่ายทอดเทคโนโลยี (Transportation and Technology Transfer Research Unit) มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ด้านการวางแผนและการบริหารจัดการระบบขนส่งผู้โดยสาร และสินค้า ทั้งในและระหว่างประเทศ พัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในงานด้านวิศวกรรมสำหรับชุมชน ท้องถิ่น และประเทศ และช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ผ่านการวิจัยให้หน่วยงานในระดับชุมชนสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน
หน่วยวิจัยการขนส่งและถ่ายทอดเทคโนโลยีมีสำนักงานอยู่ที่ ตึก 30 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้น 8 โดยมี ผศ.ดร.มานพ แก้วโมราเจริญ เป็นหัวหน้าหน่วยวิจัย